เบ่งจีดีพีโต 4% ศก.โลกเสี่ยง!กดดันส่งออก

08 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
กูรูส่องจีดีพีไทยปี 2560 เบ่งเต็มที่โตไม่เกิน 4% เหตุเอกชนยังขยาดไม่กล้าลงทุน ฉุดกำลังซื้อซบต่อเนื่อง ลุ้นภาคส่งออกฟื้นตัวช่วยพยุงแม้ต้องฝ่ากระแสการค้าต่างประเทศหดตัว ขุนคลังสั่งจับตาสถานการณ์โลกป่วนหนัก

สำนักวิจัยเศรษฐกิจภายในและต่างประเทศ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2560 อยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวถึง 3.5-4% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่มองกรอบล่างโต 3% ส่วนกรอบบนอยู่ที่ 4%

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันวิจัยเอกชน รวมถึงธนาคารโลก และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ให้กรอบการขยายตัวระหว่าง 3-3.6% ธนาคารโลกปรับเพิ่มจาก 3.1% เป็น 3.2% ส่วนเอชเอสบีซี ยังมองว่าไทยยังเผชิญความลำบากให้จีดีพีไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทย เป็นสถาบันวิจัยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ลดเป้าจีดีพีไทยโตลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.2%

ปัจจัยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่าจีดีพีไทยจะรุ่งหรือร่วง ซึ่งปัจจัยนี้เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโตต่ำกว่าศักยภาพ T01-3324e
ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมไทย บอกว่า เป็นเรื่องปกติ นักลงทุนไม่ใช่นักพนัน เมื่อเขาเห็นภาพไม่ชัด เศรษฐกิจยังไม่นิ่ง เขาก็จะไม่เสี่ยง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ด้านการท่องเที่ยว พระเอกขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มาสะดุดพอสมควรตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพราะการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่ม 4.8%

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าปี 2560 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 8% และตั้งเป้ารายได้ใหม่เป็น 2.7 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 2.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากชาวต่างชาติ 1.78 ล้านล้านบาท และจากชาวไทย 9.3 แสนล้านบาท

 ลุ้นส่งออกฝ่าวิกฤติโลก

ส่วนภาคการส่งออกหัวใจหลักขับเคลื่อนมาตลอด เกิดภาวะเครื่องดับมา 3 ปีติด เริ่มมีความหวังว่าจะดีขึ้น หลังเห็นตัวเลขเดือนพฤศจิกายนปี 2559 โตถึง 10.2% แต่คงหวังมากไม่ได้เพราะเศรษฐกิจโลกยังลุ่มๆดอนๆ

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าส่งออกปี 2560 จะขยายตัวถึง 3.0-3.5% สูงกว่าตัวเลขของสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ หน่วยงานภาคเอกชนที่เห็นตัวเลขเข้าออกสินค้าก่อนหน่วยงานรัฐบาล ประเมินไว้ว่าส่งออกจะโตแค่ 1-2% ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว

ด้านการบริโภคในช่วงไตรมาสแรกอาจจะหดตัวบ้าง เพราะผลมาจากมาตรการช้อปช่วยชาติ ทำให้คนชะลอการใช้จ่าย เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐ ที่รัฐบาลประกาศเร่งเครื่องเต็มสปีด จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท จะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ประมาณ 0.5% เท่านั้น

ภาคเกษตรในปีที่แล้วประสบปัญหาภัยแล้ว และราคาตกต่ำ กระทรบประชาชนฐานรากเดือดร้อนกันทั่วหน้า จนรัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือเป็นระยะๆ แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะสินค้าเกษตรของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้นที่ผูกติดกับราคาตลาดโลก

 ขุนคลังห่วงโลกป่วน

เศรษฐกิจไทยปี 2560 ผ่านมุมมองของ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องรับมือกับ 3 ปัจจัยใหญ่จากต่างประเทศ คือ การค้าโลกหดตัว เศรษฐกิจสหรัฐจากความไม่แน่นอน โดนัลด์ ทรัมป์ การล่มสลายของสหภาพยุโรป และ เศรษฐกิจจีนที่ไม่มีโอกาสที่จะกลับไปขยายตัวร้อนแรง จากการเปลี่ยนนโยบายพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน

“เศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออกถึง 70% ของจีดีพี แม้รัฐบาลจะพยามสร้างกำลังซื้อให้เติบโตมาจากภายใน แต่หากสถานการณ์โลกยังเป็นแบบนี้แน่นอนว่าคงมีปัญหา แต่เราต้องรักษาเครื่องยนต์ส่งออกไว้ เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เศรษฐกิจเราก็จะดีขึ้นตาม ส่วนเครื่องจักรบริโภคภายในก็เป็นอีกตัวที่ต้องดูแล”

 ธปท.หวังลงทุนรัฐเกิด

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าจีดีพีไทยในปี 2560 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ที่ ระดับ 3.2% รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัว การค้าการลงทุนขยายตัว และโครงการลงทุนภาครัฐ หากสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล และทำได้เร็วกว่ าคาดก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังจากต่างประเทศ ได้แก่นโยบายด้านการค้าสหรัฐ ซึ่งหากใช้นโยบายกีดกันทางการค้า และประเทศอุตสาหกรรมหลักใช้ตาม จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปัจจัยเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ในจะมีการเลือกตั้งของหลายประเทศที่สำคัญในยุโรป และสุด ท้ายกระบวนการที่อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) เหล่านี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายใหญ่ส่วนในประเทศจะต้องดูแลราคาสินค้าเกษตร

ปัจจุบันการลงทุนเอกชนมีสัดส่วนถึง 18% ต่อจีดีพีไทย ใหญ่กว่าการลงทุนภาครัฐถึง 3 เท่า แต่การลงทุนเอกชนในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพียงค่ 0.6% เท่านั้น

 ซีไอเอ็มบีไทยคาดบาทอ่อน

อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะพยายามเร่งหรือมีการกระตุ้นผ่านมาตรการของรัฐทั้งการลดหย่อนภาษี หรือสิทธิประโยชน์ แต่ยังไม่เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้น หากในปี 2560 การลงทุนไม่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ไทยหลุดจากห่วงโซ่ของโลกส่วนเงินบาทคาดว่าจะอ่อนตัวมาที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เชาวน์ เก่งชนม์ กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัว 3.3% เท่าปีก่อนหากแบ่งเป็นช่วงเวลา เศรษฐกิจครึ่งปีแรกยังฟื้นตัวช้าเป็นผลมาจากต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 จากผลกระทบการจัดระเบียบการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกและลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการบริโภคชะลอตัว แต่ช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่ง มาจากภาคเอกชนเริ่มลงทุน และการส่งออกที่กลับมาทรงตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560