‘หมู-ไก่ไข่’ลุ้นผงกหัวปี60 ไก่เนื้อสุดมั่นใจส่งออกพุ่ง

07 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
2 สมาคมปศุสัตว์ "หมู-ไก่ไข่"ระบุปี 60 ชีวิตเกษตรกรยังแขวนบนเส้นด้าย ชี้แนวโน้มการผลิต และราคายังผันผวนตลอดทั้งปีลุ้นราคาสินค้าเกษตรข้าว ยาง ปาล์ม มัน ปรับตัวดีขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงกำลังซื้อผู้บริโภคกระเตื้องขณะไก่เนื้อหวังไข้หวัดนกระบาดในต่างประเทศ ดันส่งออกได้เพิ่ม

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางแนวโน้มอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรหรือหมูของไทยในปี 2560 ว่า คาดจะยังมีความผันผวนเป็นบางช่วง แต่เกษตรกรคาดหวังจะดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลกประสบปัญหาภาวะราคาตกต่ำ เช่น ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาท/กก.ต่ำสุดในรอบ 10 ปีจากผลผลิตล้นตลาด ขณะที่ในเวียดนาม กัมพูชา และลาว เฉลี่ยที่ 57, 65,72 บาท/กก.ตามลำดับ ส่วนไทยเฉลี่ยที่ 55-60 บาท/กก. จากต้นทุนเฉลี่ยที่ 58-62 บาท/กก. ส่งผลให้เกษตรรายย่อยหลายรายแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ต้องชะลอการเลี้ยง

ขณะที่ ณ เวลานี้ปริมาณการผลิตหมูขุนของไทยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 4.5 หมื่นตัว/วัน แต่การบริโภคในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นตัวต่อวัน มีส่วนสำคัญจากรายได้ของเกษตรกรทั่วประเทศลดลงตามราคาสินค้าเกษตรหลักทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้มีกำลังซื้อที่ลดลง

"ในครึ่งแรกของปี 2559 ผลผลิตหมูและการบริโภคอยู่ในภาวะสมดุล ผู้เลี้ยงขายได้ราคาที่พออยู่ได้ แต่ช่วงครึ่งหลังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การบริโภค และราคาหมูลดลงทำให้ขาดทุน ซึ่งการเลี้ยงหมูของเกษตรกรเราไม่สามารถไปควบคุมปริมาณการผลิตได้ เพราะวัฏจักรมีขึ้นมีลง ราคาดีก็เลี้ยงกันมาก ราคาลงก็เลี้ยงลดลงและยังมีความเสี่ยงจากภาวะอากาศ และโรคต่างๆ ต้นทุนการเลี้ยงของแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน"

ด้านนายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า จากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเช่นยางพารา ปาล์มนำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสัญญาณจากที่ผู้ค้าจากฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ได้ติดต่อผ่านกรมปศุสัตว์เพื่อนำเข้าไข่ไก่คุณภาพมาตรฐานจากไทย มองว่าทิศทางการบริโภค และราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรได้รับในปี 2560 น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะเป็นอาหารโปรตีนราคาถูก จากในปี 2559 ผลผลิตไข่ไก่ของไทยในภาพรวมถือว่าไม่ล้นตลาดโดยมีผลผลิตออกมาเฉลี่ย 30-40 ล้านฟอง/วัน และการบริโภคต่อวันก็ใกล้เคียงกัน

"ราคาไข่ไก่ไม่แน่นอน เช่นช่วงภัยแล้งในต้นปีก็มีราคาแพงจากผลผลิตได้รับผลกระทบ ช่วงปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ คนจีนมาลดลงลง ไข่เหลือมากราคาก็ถูกลง ช่วงตรุษจีน-ปีใหม่คนจับจ่ายใช้สอยก็ขายได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้เลี้ยงไก่ไข่เขาทราบดีว่าจะเลี้ยงอย่างไร"

ขณะที่นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่าจากที่มีสถานการณ์โรคไข้หวัดนกระบาดในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และหลายประเทศในยุโรป และจากเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้ไทยกลับมาส่งออกไก่สดแช่แข็งได้อีกครั้ง(ตั้งแต่ 9 พ.ย.59) คาดจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี2560 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.5 แสนตัน มูลค่าราว 9.6 หมื่นล้าน จากปี 2559 คาดจะส่งออกได้ที่ 7.2 แสนตัน มูลค่าประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560