Working Women ผู้หญิงมองเทรนด์เศรษฐกิจปี60

07 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
ถือเป็นเทรนด์ทั่วโลก ที่กระแส “ผู้หญิง” มาแรงและเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจ จนกลายเป็นที่มาของ “She-economy”ขณะที่ดัชนีวัดโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในหลายประเทศขยับตัวสูงขึ้น ในอาเซียนประเทศไทยเองถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

"ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้ ขอเกาะกระแสหญิงเก่ง พร้อมสะท้อน 3 มุมมองจาก 3 ผู้บริหารสาวในแวดวงนักธุรกิจเมืองไทย ที่จะมาบอกเล่าถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการทำธุรกิจท่ามกลางความผันผวนในขณะนี้

 แม่ทัพยูบิลลี่ ชี้ต้อง "รู้-ปรับ" รับพฤติกรรมลูกค้า

"อัญรัตน์ พรประกฤต" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หญิงเก่งระดับแนวหน้าผู้สร้างให้แบรนด์เครื่องเพชรชั้นนำอย่าง "ยูบิลลี่" (Jubilee) สัมผัสได้ กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2560 เชื่อว่าจะไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก จากการที่ภาครัฐมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อีกทั้งในไตรมาส 1 มีเทศกาลต่างๆ ทั้งตรุษจีน วาเลนไทน์ที่จะมาช่วยกระตุ้นการจับจ่าย ส่วนไตรมาส 2 เป็นช่วงเปิดภาคเรียน ผู้ปกครองต้องใช้จ่ายเงินมาก เอกชนเองต้องลุกขึ้นมาทำแคมเปญกระตุ้นตลาดให้มากขึ้น และครึ่งปีหลังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การวางแผนธุรกิจต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย โดย "อัญรัตน์" บอกว่า ในทุกปัจจัยบวกก็มีปัจจัยเสี่ยงรวมอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเข้ามาของเทคโนโลยี หรืออี-คอมเมิร์ซ ที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องของการจ่ายเงิน แฮคเกอร์ด้วย ซึ่งปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงในองค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการตรวจสอบตลอดเวลาเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขได้ทันถ่วงที

"สิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจคือ ต้องมีการวางแผน (Planning) ขณะเดียวกันก็ต้องมีการติดตามผล (monitoring) อย่างต่อเนื่องพร้อมกับปรับเปลี่ยนแผนได้ทันทีหากไม่สามารถตอบเป้าหมายที่ต้องการได้ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และหากบรรลุเป้าหมายก็ดำเนินการต่อ ทั้งนี้การติดตาม ตรวจสอบมีขึ้นตลอดเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน เช่น ยอดขายสามารถตรวจสอบได้ทุกวัน ระบบการจัดส่งสามารถตรวจสอบและประเมินได้เป็นรายเดือน เป็นต้น"

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ "อัญรัตน์" บอกคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้อง "รู้" และต้อง "ปรับ" เพื่อให้ตอบโจกย์ธุรกิจได้

"เมื่อ 2-3 ปีก่อนการเลือกซื้อเพชร สำหรับคนทั่วไปถือเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเพชรได้ บ่งบอกถึงสถานะของตนเองได้ เพราะยูบิลลี่เองเลือกที่จะปรับไลน์สินค้า กลยุทธ์การตลาดให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ลูกค้า ไม่ว่าการดีไซน์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ การมีระบบการผ่อนชำระ หรือการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เป็นต้น วันนี้จึงเห็นเจนเนอเรชั่นใหม่ หันมาสวมใส่เพชรเป็นเครื่องประดับมากขึ้น"

สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคในปี 2560 นั้น เชื่อว่าผู้บริโภคยังมีการจับจ่ายซื้อสินค้าอยู่ แต่จะพิถีพิถัน และคำถึงแวลู (Value) ซึ่งไม่ใช่เรื่องของราคา แต่เป็นมูลค่าที่ควรได้รับ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จำเป็นจะต้องลงลึกในรายละเอียด เพื่อเฟ้นหาและนำเสนอสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภคให้มากที่สุด สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ "การสร้างแบรนด์" เพราะเป็นหัวใจของธุรกิจ

"ผู้บริโภคในยุค 2016 จะมีความซับซ้อน พิถีพิถัน ละเอียดมากขึ้น การจะทำตลาดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรวมถึงการตลาด 4.0 ต้องมีความลึกซึ้ง เพราะผู้บริโภคจะมองหาเฉพาะ "ตัวจริง" เท่านั้น ด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ และจะมีเพียงแบรนด์อันดับ 1-3 เท่านั้นที่จะอยู่ในใจผู้บริโภค ดังนั้นย่อมเกิดการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำในธุรกิจ"

บิ๊กเอเจนซี่แนะหาเครื่องมือใหม่

อีกหนึ่งหญิงเก่ง ที่ก้าวขึ้นมานั่งในตำแหน่ง CEO ของเอเจนซี่ดัง "มาลี กิตติพงศ์ไพศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินิชิเอทีฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การเดินหน้าธุรกิจนับจากนี้ ยังถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นฟู การเปลี่ยนแปลงของฝั่งยุโรป และอเมริกา รวมถึงจีน ทำให้ภาคธุรกิจต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้มีการเติบโต ทั้งภาคท่องเที่ยว การลงทุนเมกะโปรเจ็คของภาครัฐ ซึ่งในปี 2560 ถือเป็นปีแห่งการลงทุนก็ว่าได้ เพราะจะมีโปรเจ็คใหม่ๆ เกิดขึ้นมากและเป็นพลังขับเคลื่อนทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการจ้างงาน การจับจ่ายใช้สอยตามมา ส่วนภาคเกษตรหลังจากที่ปีนี้เกิดภาวะภัยแล้งเชื่อว่าสถานการณ์ในปีหน้าจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ และประชาชนฐานรากจะกลับมามีรายได้ดีดังเดิม อย่างไรก็ดีประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมจะกลุ่มสู่ปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโฆษณา มีสินค้าหลายประเภทที่จะใส่เงินลงทุนเข้ามาช่วยปลุกตลาดให้คึกคักขึ้น

โดยเทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในปีนี้ ผ่านการนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ขณะที่วงการสื่อ จะปรับเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในวงการทีวีดิจิตอล ซึ่งนับจากนี้การจะได้เห็นรายการหรือละครที่มีเรตติ้งสูงเป็นตัวเลข 2 หลักขึ้นไปน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการแต่ละช่องจะมีความชัดเจนขึ้น และมุ่งเจาะกลุ่มผู้ชมที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

"ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะหันไปโฟกัสรายการที่ได้รับความนิยม พร้อมกับขยายไปสู่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย จะไม่หว่านแหเป็นแมสอีกต่อไป ดังนั้นภาพของแต่ละช่องจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น"

ขณะที่เอเจนซี่เองจะต้องปรับตัว พร้อมกับนำเสนอเทคโนโลยี เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคที่แท้จริงเพื่อให้เกิดอิมแพค โดยตัวอย่างที่สื่อที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ได้แก่ สื่อนอกบ้าน (Out of Home Media) ซึ่งเริ่มพัฒนาจากป้ายโฆษณาธรรมดา จนปัจจุบันกลายเป็นป้ายอัจฉริยะ สามารถเคลื่อนไหว โต้ตอบกับผู้ชมได้

ส่วนสื่ออื่นก็จำเป็นจะต้องปรับตัวเข้าหาธุรกิจที่ต้องการสื่อนั้นๆ อย่างแท้จริง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ เชื่อว่ายังเป็นที่ต้องการของหลายธุรกิจ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ อย่างไรก็ดีภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปีนี้คาดว่าจะโตใกล้เคียงกับจีดีพีที่วางไว้ คือ 3-3.2%

 ลุ้นเมกะโปรเจ็คดันเศรษฐกิจคึก

สำหรับนักบริหารสาวรุ่นใหม่อย่าง "อรชุมา ดุรงค์เดช" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ "มาซูม่า" กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในปี 2560 คือ นโยบายด้านการลงทุนเมกะโปรเจ็คของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้เป็นอย่างดี

พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดดีมานต์และซัพพลายขึ้นภายในประเทศ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างเป็นระบบในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ฯลฯ

ขณะที่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังคือ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีเดีย และสื่อแขนงต่างๆซี่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ทั้งยังไม่สามารถเดินหน้าจัดงานการแสดงในรูปแบบต่างได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้านปัจจัยภายนอกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ มองว่าน่าจะมาจากเรื่องอัตราค่าเงินที่อาจจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลล่าสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อกลุ่มธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มธุรกิจนำเข้านั้นจะได้รับอานิสงค์จากปัจจัยดังกล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองได้มีการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นในส่วนในการผลิตเครื่องกรองน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น ทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ รวมถึงประเทศอื่นๆในแถบยุโรป ในกลุ่มฮีตเตอร์ทองแดง ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์บางรายการ เป็นต้น โดยได้มีแนวทางในการป้องกันปัญหาค่าเงินอ่อนตัวด้วยการใช้สัญญาซื้อขายเพื่อส่งมอบในอนาคต (Future Contracts) เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย ขณะที่ปัญหาภายในประเทศจะเน้นการบริหารจัดการในเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอยบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มมากขึ้น

ภาระกิจต่อไปในฐานะรองแม่ทัพองค์กรคือการปั้นแบรนด์มาซูม่าให้เป็นที่รู้จักภายหลังจากมีการรีแบรนด์ในช่วงกลางปีทีผ่านมา ด้วยต้องการสร้างมาซูม่าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ หากแต่ยังหมายรวมถึงการเป็นบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำแบบครบวงจร ทั้งเครื่องกรองน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน เครื่องกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืด เครื่องกรองสารพิษออกจากน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบริการหลังการขาย และการขยายศูนย์บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการนำแนวคิดมาร์เก็ตติ้ง 4.0 เข้ามาใช้ในการทำตลาด เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมความสะวดกรวดเร็วเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยในเร็วๆนี้มีแผนเปิดตัวแอพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ของบริษัทเพื่อนำมาใช้รองรับความต้องการดังกล่าวอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560