‘ฟรีก๊อบปี้’แข่งดุ สวนกระแสสิ่งพิมพ์ขาลง

05 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
ขณะที่ในปี 2559 สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่ในช่วงขาลง แต่ดูเหมือนนิตยสารแจกฟรี หรือ ฟรีก๊อบปี้ จะได้รับความนิยมสวนกระแส เห็นได้จากหัวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จนปัจจุบันมีฟรีก๊อบปี้แจกจ่ายอยู่ทั่วกรุงมากถึง 50-60 หัวเลยทีเดียว แน่นอนว่าด้วยซัพพลายที่ล้นหลาม พาเหรดมาชิงเค้ก (คนกรุง) ก้อนเดิมๆ ย่อมเกิดการแข่งขันและต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด สนามการค้านี้จึงระอุขึ้นทันที

คาร์แรกเตอร์ต้องชัด

นิตยสารแจกฟรีที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ถือเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ผู้ประกอบการสื่อนำมาใช้เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ เพราะเป็นคอนเทนต์ฟรีทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ชัดเจน จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากทั้งกลุ่มผู้บริโภค และ เอเจนซี่โฆษณาในการเลือกลงโฆษณาสินค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ โดยฟรีก๊อบปี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฟรีก๊อบปี้รายวัน และฟรีก๊อบปี้รายสัปดาห์ (มีเป็นรายปักษ์และรายเดือนด้วยแต่จำนวนน้อยมาก) โดยส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์คนเมืองเป็นหลัก

โดยนายกิติภูมิ ศรีสมนึก บรรณาธิการบริหาร บริษัท มีเดีย ดิจิตอล เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารแจกฟรี "BLT" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่ฟรีก๊อบปี้ได้รับความนิยมเพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่านได้กว้าง และเป็นคอนเทนต์ฟรี วันนี้โดยภาพรวมหนังสือพิมพ์ฟรีก๊อบปี้ยังคู่แข่งไม่มาก เมื่อเทียบกับนิตยสารฟรีก๊อบปี้ไลฟ์สไตล์ ที่แข่งขันกันดุเดือด

ทั้งนี้การที่ฟรีก๊อบปี้จะอยู่ได้ต้องมีคาร์แรกเตอร์ที่ชัดเจน นำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่าง และสามารถตอบโจทย์คนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักได้เป็นอย่างดี จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้ามา

"แม้จะมีฟรีก๊อบปี้เพิ่มขึ้น แต่การทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่นั่งรอโฆษณาอย่างเดียวจะเหนื่อย เพราะการทำธุรกิจวันนี้จะต้องมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง แม้จะมีเรื่องของดิจิตอลเข้ามาช่วยก็อาจไม่เพียงพอ เพราะเม็ดเงินผ่านสื่อดิจิตอลในเมืองไทยยังไม่มากนัก จึงต้องมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ตามมา ดังนั้นการทำฟรีก๊อบปี้ก็เหมือนกับการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต"

ต่อยอดสู่อีเวนต์-ทีวี

โดยในปี 2560 บีแอลทีจะขยายแพลตฟอร์มด้วยการนำคอนเทนต์ต่างๆ มาต่อยอดจัดอีเวนต์ รวมถึงการรายการโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้มีช่องทางในการเพิ่มรายได้มากขึ้น

"ฟรีก๊อบปี้วันนี้ทำง่าย แต่อยู่ยาก คอนเทนต์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มใหญ่หรือเล็ก ต่างมีจุดเด่นต่างกัน คือ ฟรีก๊อบปี้มีจุดเด่นที่การเข้าถึงคน มีความน่าเชื่อถือ จากพันธมิตรที่ร่วมกันทั้งสปริงนิวส์ และฐานเศรษฐกิจ ขณะที่สื่อออนไลน์ จะมีความไวแต่ขาดความถูกต้อง ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือตามไปด้วย"

วันนี้ฟรีก๊อบปี้เริ่มมีการแบ่งเซ็กเมนต์ที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คอนเทนต์ เนื้อหาที่นำเสนอ หนึ่งในคีย์ซักเซสที่จะทำให้ฟรีก๊อบปี้ประสบความสำเร็จคือ พันธมิตร ที่จะมาช่วยต่อยอดคอนเทนต์ สร้างแบรนด์ให้ผู้อ่านรู้จัก ลดต้นทุน เพราะยิ่งพันธมิตรมีความแข็งแรงเท่าไร ก็จะทำให้แข็งแรงและมีความน่าเชื่อถือตามไปด้วย"
T21-3324b
หัวเล็กทยอยปิดตัว

ในปี 2559 แม้จะมีฟรีก๊อบปี้เกิดขึ้นมาก แต่ก็พบว่ามีหัวเล็กๆ จากผู้ประกอบการรายย่อยปิดตัวลงไปจำนวนหนึ่ง ถือเป็นการบ่งบอกถึงสายป่าน และแรงต้านทานในธุรกิจ ขณะที่ฟรีก๊อบปี้จะยืนอยู่ได้ขึ้นอยู่กับ"รายได้" จากโฆษณาเป็นหลัก แต่พบว่าฟรีก๊อบปี้ส่วนใหญ่มีอัตราโฆษณาเฉลี่ยราว 10-50%

ขณะที่แบรนด์ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น M2F ในเครือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งเป็นฟรีก๊อบปี้อันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมสำหรับคนเมืองหลวง และเริ่มขยายกลุ่มผู้อ่านไปยังหัวเมืองใหญ่ในปีที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในปีนี้คาดว่าจะเริ่มกลับมาให้น้ำหนักในการทำตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเช่นเดิม

ส่วนฟรีก๊อบปี้ ในเครือนิตยสาร a day คาดว่าจะมีการควบรวม a day BULLETIN และ a dayBULLETIN LIFE เข้ารวมกัน พร้อมจัดทำฟรีก๊อบปี้ราย 3 วัน จากเดิมที่เป็นรายสัปดาห์ หลังจากที่บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เจ้าของกิจการ ได้ขายหุ้นให้กับบริษัท โพลาริสแคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ด้วยมูลค่า 308.7 ล้านบาท

T21-3324c   ฟรีก๊อบปี้เต็มตลาด

นายปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนิตยสารแจกฟรี ภายใต้ชื่อ 247 City Magazine , Women Plus , GM Biz ฯลฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหนังสือแจกฟรี หรือ ฟรีก๊อบปี้ อยู่มากถึง 40-50 หัว ซึ่งถือว่าเต็มตลาดแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่จะแจกในกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน หากฟรีก๊อบปี้เข้าถึงกลุ่มคนเป้าหมายสัก 1% ถือว่าดีแล้ว และควรมีโฆษณาประมาณ 10-15 หน้า ซึ่งปัจจุบันกลุ่มจีเอ็มมีฟรีก๊อบปี้หลายเล่ม ที่ถือว่าไปได้ด้วยดี คือ 247 ที่ได้รับจากรายปักษ์ มาเป็นรายสัปดาห์มาแล้ว 2-3 ปี และยังมีแนวคิดที่จะปรับเป็นฟรีก๊อบปี้แจกรายวัน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไร เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนสถานการณ์นิตยสารในปัจจุบันยังเหลืออยู่ 50-60 หัว ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้นำ 1-3 ของนิตยสารแต่ละกลุ่ม จากอดีตช่วง 10-20 ปีก่อนหน้านี้ ที่มีทั้งนิตยสารไทยและต่างประเทศกว่า 500 หัว ก่อนจะลดลงเหลือประมาณ 300 หัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่านิตยสารที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันจะยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่จะต้องปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการลดจำนวนหน้าลง อย่างเช่น นิตยสารจีเอ็ม ที่เคยมีถึง 200 หน้าได้เริ่มปรับลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือ 100-120 หน้าในปัจจุบัน การปรับตัวเข้าสู่องทางออนไลน์ ในรูปแบบอี-แมกกาซีน การปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้อ่านคนไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560