ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 305-310 บาท/วันช่วยบรรเทาภาวะค่าครองชีพ

29 ต.ค. 2559 | 04:40 น.
ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 305-310 บาท/วัน ส่วนหนึ่งช่วยบรรเทาภาวะค่าครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบหลักการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 โดยจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท/วันใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 8 จังหวัด ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม. ในขณะที่คสรท. เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ยร้อยละ 1.8 นั้น น่าจะบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่งหลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนค่าจ้างของผู้ประกอบการในปี 2560 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.6 ในภาคการผลิตและภาคการค้าและบริการ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในภาคก่อสร้าง ในขณะที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 อย่างจำกัด โดยปรับสูงขึ้นอีกร้อยละ 0.03 และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนและจีดีพีในปี 2560 เพียงเล็กน้อย