‘ประกันสังคม’ พัฒนาระบบบำนาญเพื่อหลักประกันรายได้ที่มั่นคง

29 ต.ค. 2559 | 02:30 น.
ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนประกันสังคม เนื่องจากกองทุนจะต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพให้ผู้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรวัยแรงงาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนประกันสังคมเช่นกัน

[caption id="attachment_109825" align="aligncenter" width="500"] สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ[/caption]

สังคมผู้สูงอายุเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น พวกเราอายุยืนขึ้น จึงต้องเตรียมเงินไว้มากขึ้นเพื่อใช้หลังเกษียณ จะหวังพึ่งพิงลูกหลานก็ลำบาก จึงต้องเตรียมตัวด้านการออมมากขึ้น โดยทางรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการออมมากมาย และที่สำคัญสำหรับแรงงานในบริษัทที่มีประกันสังคม จะได้รับสิทธิบำนาญหลังเกษียณอายุ ซึ่งตามดีไซน์ของระบบนั้นออกแบบผู้ประกันตนได้บำนาญประมาณ 40-60% ของรายได้ขณะทำงาน หากมีอายุทำงานตามกลุ่มทั่วไป คือเริ่มทำงานประมาณอายุ 18-22 ปี และเกษียณอายุประมาณ 55-65 ปี

[caption id="attachment_109824" align="aligncenter" width="500"] สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ[/caption]

ยกตัวอย่างเช่น คุณ A เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 ปี และเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี จะได้ 50% ของเงินเดือน 5 ปีสุดท้าย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการกำหนดเพดานค่าจ้างสำหรับระบบประกันสังคมไว้ที่ 15,000 บาททั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งถึงแม้คุณ A จะมีรายได้ 30,000 บาทให้นับว่ามีรายได้ 15,000 บาทในระบบประกันสังคม และได้รับบำนาญ 50% คือ 7,500 บาท

[caption id="attachment_109827" align="aligncenter" width="500"] สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ[/caption]

ซึ่งบำนาญนี้ถือว่าสุดคุ้มหากเรามาลองคิดเลขดู คุณ A ส่งเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท แบ่งเป็นเงินออมสำหรับบำนาญ 450 บาท ส่วนอีก 300 บาทเป็นเบี้ยประกันสำหรับค่ารักษาพยาบาท และสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมถึงกรณีว่างงาน เลี้ยงดูบุตร และประกันชีวิต โดยเงินออมคุณ A 450 บาทจะได้รับการออมเพิ่มจากนายจ้างอีก 450 รวมเป็น 900 บาทเรียกว่าได้ดอกเบี้ย 100% อย่างทันที หลังจากนั้นกองทุนประกันสังคมจะนำเงินไปรวมกับเงินออมคนอื่นเพื่อทำการลงทุนในกองทุนขนาดใหญ่ ได้ดอกเบี้ยดี และค่อนข้างคงที่ มีความเสี่ยงตํ่า ซึ่งเมื่อคุณอายุครบ 60 ปีจะประมาณการทางการลงทุนได้ว่าคุณ A จะมีเงินในบัญชีประมาณ 800,000 บาท ซึ่งมาจากเงินออมเพียงเดือนละ 450 บาท 35 ปี หรือคิดเป็น 189,000 บาทเท่านั้น

[caption id="attachment_109828" align="aligncenter" width="500"] application my SSO application my SSO[/caption]

ผู้ประกันตนสามารถเช็กยอดสุดคุ้มนี้ได้ใน application my SSO ทำให้ผู้ประกันตนหลายๆ คนอยากได้เงินก้อน  800,000 เมื่อเกษียณจากการทำงาน อย่างไรก็ตามจุดประสงค์หลักของรัฐบาลต้องการดูแลประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้รายได้ที่ต่อเนื่องยามเกษียณไปตลอดชีวิตซึ่งโดยอายุไขเฉลี่ยของผู้ทำงานในกลุ่มที่มีประกันสังคมจะอยู่ได้หลังเกษียณอีก 26 ปี หากรับบำนาญเดือนละ 7,500 บาท ก็คิดมูลค่ารวมได้ถึง 2,340,000 บาท มากกว่าเงินก้อนถึง 3 เท่า

สรุปแล้วคือถ้าคุณมองหาหลักประกันยามเกษียณควรมองประกันสังคมที่แรกเพราะมีแต่คุ้มกับคุ้ม ออมเงินเพียงแสนกว่าบาท ได้บำนาญถึง 2 ล้านบาท คำถามคือรัฐบาลเอาเงินที่ไหนมาจ่าย 1. คือนายจ้างช่วยสมทบ 2. รัฐบาลนำรายได้ภาษีมาช่วยสมทบ แต่ก็ไม่ควรมากเพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และ 3. คือเงินในอนาคต

[caption id="attachment_109826" align="aligncenter" width="500"] สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ[/caption]

ข้อที่ 3 นี้สำคัญที่สุดเพราะหากดูประกันสังคมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้วมีการเก็บเงินสมทบกรณีบำนาญสูงถึง 15-25% เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ประเทศไทยเก็บอยู่เพียงที่ 6%  (จากลูกจ้างและนายจ้างฝ่ายละ 3%) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้องการให้คนมีเงินในกระเป๋าเพื่อใช้จ่ายเยอะ ไม่ออมมากเกินไป ประกอบกับระบบประกันสังคมเพิ่งเริ่มตั้งขึ้นใหม่ ยังไม่มีผู้เกษียณอายุในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้เริ่มมีผู้เกษียณอายุและรับบำนาญมาแล้วกว่า 2 ปี และผู้รับบำนาญจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้แรงงานออมเงินมากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสร้างเงินสำรองไว้ให้สามารถดูแลแรงงานยามเกษียณไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ไปสร้างภาระภาษีของรุ่นลูกหลานในอนาคต จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

การจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมาก็เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับผู้ประกันตน เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้เป็นฐานหลักที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่ครบอายุ 55 ปีและส่งเงินสมทบครบตามกำหนดได้ยื่นขอรับสิทธิแล้วกว่า 67,000 คน
ในปีหน้าคาดว่าจะมีผู้รับบำนาญเกือบ 200,000 คน และภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีตัวเลขผู้รับบำนาญเพิ่มถึง 1 ล้านคน ซึ่งสำนักงานประกันสังคม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคตจึงได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  (ILO) ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพ หากไม่ดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม รายรับจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละปี ทำให้ต้องดึงเงินกองทุนสะสมออกมาใช้ภายใน 28 ปี และเงินสะสมจะหมดภายใน 38 ปี  สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงมุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรและการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ภาระทั้งหมดตกไปถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลาน

[caption id="attachment_109829" align="aligncenter" width="500"] สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุ[/caption]

จากข้อเสนอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แนะนำให้สำนักงานประกันสังคม ปฏิรูปตามแนวทางดังต่อไปนี้ 1.ขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันที่ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 ทั้งนี้เมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว หากผู้ประกันตนคนใดถูกเลิกจ้างหรือลาออกหลัง 55 ปี จะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอีกด้วย 2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ จากปัจจุบันที่มีขั้นตํ่าอยู่ที่ 1,650 บาท เป็น 3,600 บาท และสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท  3. ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ ทำให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม โดยแนวทางใหม่วางไว้เป็น 2-3 แนว คือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปีแทน  4. ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่เก็บร้อยละ 3 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนายจ้างสมทบอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งรวมเป็นร้อยละ 6 แต่จะเพิ่มเป็นฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 เฉพาะในส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ 5.ปรับนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อให้เงินในกองทุนงอกเงยทาง สปส. จะเร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วยจากแนวทางการปฏิรูปข้างต้น จะช่วยยืดอายุกองทุนไปได้อีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2597 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังเร่งดำเนินการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533

ปัจจุบันการหักส่วนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากส่วนต่างๆ อาทิเช่น นายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งทุกเดือน โดยฐานค่าจ้างอยู่ที่ 1,650-15,000 บาท ปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุน อีกส่วนหนึ่ง ร้อยละ 2.75 และทุกส่วนจะแบ่งจ่ายไปให้กับกองทุนต่างๆ ของประกันสังคม อาทิ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน ทั้ง 7 กรณี และทุกฝ่ายของประกันสังคมต่างมุ่งมั่นในการปรับปรุงระบบต่างๆให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์จะมีการเอื้ออาทรกันระหว่างผู้ประกันตนด้วยกัน จะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ถือเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กันและกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559