ยุโรป-แคนาดาปิดดีล FTA ไม่ลง หลังรัฐบาลท้องถิ่นเบลเยี่ยมเบรก

27 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
ข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-แคนาดาเสี่ยงล่ม หลังการคัดค้านจากรัฐบาลท้องถิ่นทำให้เบลเยี่ยมไม่สามารถรับรองข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ ขณะที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังหวังว่าจะสามารถปิดดีลได้ตามกำหนด

นายชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีของเบลเยี่ยม กล่าวว่า เบลเยี่ยมไม่สามารถรับรองข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และแคนาดา ที่ใช้ชื่อว่า Comprehensive Economic and Trade Agreement หรือ CETA หลังจากภูมิภาควอลโลเนียคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว โดยอียูได้ให้เวลาเบลเยี่ยมถึงช่วงเย็นวันจันทร์ (24 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่นเพื่อโน้มน้าววอลโลเนียให้สำเร็จ ก่อนที่จะถึงกำหนดการประชุมสุดยอดร่วมกับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาคาในวันพฤหัสบดี (27 ตุลาคม) เพื่อลงนามในข้อตกลงดังกล่าว

ข้อตกลง CETA จะต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกทั้ง 28 ประเทศของอียู อย่างไรก็ดี แม้เบลเยี่ยมจะยังไม่รับรองข้อตกลงดังกล่าว แต่นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป กล่าวแสดงความหวังว่าการประชุมกับนายทรูโดจะเกิดขึ้นได้ “ผมและนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด เราเชื่อว่าการประชุมสุดยอดในวันพฤหัสบดียังเป็นไปได้ เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางออก ยังคงมีเวลา” นายทัสก์กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว

ด้านนางคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีพาณิชย์ของแคนาดา กล่าวว่า ข้อตกลง CETA ยังไม่ล้มเหลว แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ถ้าอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในสัปดาห์นี้

เจ้าหน้าที่ทางการของอียูกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเจรจากับวอลโลเนียอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ ขณะที่นายมาร์การิทิส ชีนาส โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่า ถึงแม้การประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปและแคนาดาจะไม่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่ประเด็นดังกล่าวจะยังเดินหน้าต่อไป “เวลานี้เราต้องอาศัยความอดทน” นายชีนาสกล่าว

แม้ว่ารัฐบาลกลางเบลเยี่ยมจะสนับสนุนข้อตกลง CETA แต่รัฐบาลท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาคในประเทศจะต้องรับรองด้วย รัฐบาลกลางจึงจะสามารถให้การรับรองอย่างเป็นทางการได้ โดยวอลโลเนียกังวลว่าข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและสุกรในภูมิภาค และเป็นภัยต่อมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงานของยุโรป ซึ่งแม้เงื่อนไขบางประการในข้อตกลงจะได้รับการปรับแก้แล้ว แต่ทางการของวอลโลเนียกล่าวว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มเติมเพื่อศึกษา

แคนาดาพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป ด้วยความหวังว่าจะกระตุ้นการเติบโตในเวลาที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ โดย CETA ซึ่งการเจรจาเป็นเวลา 7 ปีสิ้นสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเป้าหมายยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าประมาณ 9,000 รายการ ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าภาคอุตสาหกรรมไปจนถึงเกษตรและอาหาร อีกทั้งเปิดเสรีการแข่งขันในภาคบริการ

อุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อข้อตกลง CETA ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาระหว่างยุโรปและแคนาดาเท่านั้น แต่ถ้า CETA ล้มเหลว อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงความหวังของอียูที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในลักษณะเดียวกันนี้กับสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนกล่าวว่า ข้อตกลง CETA จะช่วยเพิ่มการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย 20% และจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้านเกรงว่าข้อตกลงจะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานสินค้า และเป็นการปกป้องบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ด้วยการเปิดโอกาสให้ฟ้องร้องรัฐบาลในอียู

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559