ลุ้นอาคมเคาะ 2 ไฮสปีดเทรน ปลายปีนี้เร่งเสนอครม.ไฟเขียวประมูลสายสีม่วงใต้

25 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
คมนาคมไขลานไฮสปีดเทรน 2 เส้นทางมีลุ้น “อาคม” พิจารณาก่อนเสนอสคร.และคณะกรรมการพีพีพี ไฟเขียวพร้อมตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 เร่งประกวดราคาต้นปีหน้า ส่วนรถไฟฟ้ายังมีลุ้นครม.อนุมัติสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)ปลายปีนี้ ส่วนสายสีส้มช่วงตะวันตก(ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ไปลุ้นประมูลต้นปี 60 ทั้งหมด

[caption id="attachment_107640" align="aligncenter" width="335"] ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม[/caption]

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพ-หัวหิน ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณารายละเอียดก่อนจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ในกระบวนการดำเนินงานได้เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน(มาร์เก็ตซาวดิ้ง) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องการเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน 1 ราย 1 เส้นทางพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อลดภาระการขาดทุนจากโครงการดังกล่าวที่จะมีรายได้มาจากการโดยสารเท่านั้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้กลับไปศึกษารายละเอียดด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในจุดต่างๆควบคู่ไปกับการเดินรถเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

“โดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทางนี้กระทรวงคมนาคมจะนำเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนพีพีพีทั้งหมด คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่ต้นเดือนพฤศจิกายนจะนำเสนอสคร.พิจารณารายละเอียดแล้วนำเสนอคณะกรรมการพีพีพีเพื่อตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 ไปดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคาต่อไป โดยไม่ต้องนำเสนอครม. ทั้งนี้คาดว่าจะประมูลได้ในต้นปี 2560”

ปลัดคมนาคมกล่าวอีกว่าในส่วนโครงการรถไฟฟ้านั้นสายสีม่วงใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) คาดว่าจะนำเสนอ ครม. ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ยังไม่ได้นำเสนอมายังกระทรวงคมนาคม

“สำหรับสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่าโครงการรวมจำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท รฟม.กำหนดให้ยื่นซองเอกสารประกวดราคาได้ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ส่วนสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) กำหนดยื่นซองได้ในวันที่ 7 พฤศจิกายนพร้อมกับสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเบื้องต้นนั้นผู้ซื้อซองสายสีชมพูและสายสีเหลืองจำนวนหนึ่งได้ยื่นขอขยายระยะเวลาการยื่นซองออกไปอีกโดยรฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งโครงการดังกล่าวนี้รัฐบาลต้องการเร่งให้ดำเนินการ ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีส้มตะวันตกยังอยู่ในแผนปฏิบัติการแอ๊คชั่นแพลนที่กำหนดไว้ ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการปี 2560 รองรับไว้แล้ว”

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่ากรณีการยื่นซองเอกสารประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองกำหนดให้ยื่นเอกสารประกวดาราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ตามปกติ ไม่มีการขยายระยะเวลาออกไปตามที่มีผู้รับเหมาบางกลุ่มยื่นขอขยายระยะเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางรัฐบาลเร่งรัดและจัดอยู่ในแผนปฏิบัติการปีนี้จึงต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน โดยรัฐสนับสนุนค่างานโยธาวงเงินไม่เกิน 20,135 ล้านบาท เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตรจำนวน 23 สถานี โดยรัฐสนับสนุนค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 22,354 ล้านบาท

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าพร้อมร่วมลงทุนแข่งประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องกระบวนการร่วมลงทุน รูปแบบการลงทุน ตลอดจนกระบวนการชดเชยจากภาครัฐหากภาคเอกชนไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าภาครัฐจะชดเชยให้ภาคเอกชนจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร ระยะเวลากี่ปี

“ในเบื้องต้นนั้นเพียงทราบว่าภาครัฐจะจ่ายชดเชยให้ภาคเอกชนรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท จะสนับสนุนอย่างไร เงื่อนไขการลงทุนกำหนดไว้อย่างไรบ้าง เนื่องจากเอกชนจะต้องลงทุน 1.5 แสนล้านบาทซึ่งประเด็นนี้เอกชนจะให้ความสำคัญอย่างมาก อีกทั้งยังมีการระบุเอาไว้ว่าภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดในรูปแบบ Net Cost โดยควรขยายระยะเวลาให้ไม่น้อยกว่า 50 ปีเนื่องจากเป็นการลงทุนจำนวนสูงมากและภาครัฐต้องสนับสนุนโดยเอกชนลงทุนทั้งงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า และขบวนรถ”

ด้านนายสมเกียรติ เรือนทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด กล่าวว่า ไฮสปีดเทรน เป็นการวางระบบการขนส่งที่สามารถเคลื่อนย้ายคนและสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก มีโอกาสที่จะเกิดชุมชนขนาดใหญ่ หรือเมืองในพื้นที่โดยรอบสถานี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโครงข่ายการคมนาคมที่สะดวกที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทำให้คนอยู่ที่หนึ่งไปทำงานอีกที่หนึ่งได้โดยสะดวก หรืออาจทำงาน ใช้ชีวิตในพื้นที่นั้นๆได้

“การลงทุนของรัฐหากมองเฉพาะตัวเงินถือว่าสูงมาก อาจไม่คุ้มค่าด้านการเงิน แต่ถ้ามองในภาพรวมของการพัฒนาประเทศ พัฒนาพื้นที่ ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ - สังคม ในอนาคต”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559