เครือข่ายทันตแพทย์ ยื่นหนังสือต่อ ปกท.วท ค้าน พรบ.นิวเคลียร์ใหม่

19 ต.ค. 2559 | 10:28 น.
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ รับหนังสือร้องเรียนกรณี พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 จาก ทันตแพทย์พิทักษ์ ไชยเจริญ ประธานเครือข่ายทันตแพทย์ภาครัฐและเอกชน ทันตะอาสา พร้อมด้วยผู้แทนทันตแพทย์ทั่วประเทศ ได้เข้ายื่นหนังสือกรณี พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 กระทบการประกอบวิชาชีพทันตกรรมเนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีบทบัญญัติมาตราหนึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงการร่างกฎกระทรวง และระเบียบข้อบังคับ โดยกำหนดว่า ต่อไปนี้ทันตแพทย์จะไม่สามารถถ่ายเอกซเรย์ฟันให้คนไข้ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ทุกครั้งที่ต้องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ยืนควบคุมกำกับ หรือมิฉะนั้น ทันตแพทย์ต้องไปรับการอบรมและสอบขึ้นทะเบียนเป็น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี โดยทางผู้แทนทันตแพทย์ได้มีการแจกเอกสารเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ผลกระทบและข้อนำเสนอว่า

ในประเด็นด้านความเป็นมานั้น พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้การใช้พลังปรมาณูเพื่อสันติ ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ. พลังปรมาณูเพื่อสันติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2508 มาตรา 8 บัญญัติให้ผู้ใช้พลังงานรังสีเอกซเรย์ ใช้ได้ต่อไปอีก 1 ปีโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต,ระเบียบสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติว่าด้วยการออกใบอนุญาต พ.ศ. 2538 กล่าวว่า การใช้รังสีเอ็กซ์จากเครื่องเอกซเรย์ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องขออนุญาต,รังสีเอ็กซ์อยู่ในความควบคุมของผู้ที่ชำนาญด้านสุขภาพอย่างดีและการประกอบการวิชาชีพทางทันตกรรมนั้น เครื่องเอกซเรย์เป็นเครื่องที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคในบางกรณีเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาที่ซับซ้อน ทันตแพทย์ส่วนมากที่เปิดคลินิกจึงมีเครื่องเอกซเรย์ไว้ประกอบการใช้งาน และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฏกระทรวงเอาไว้ กำหนดให้คลินิกทันตกรรมต้องมีเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งทำให้คลินิกใดที่ไม่มีเครื่องเอกซเรย์ฟัน จะไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้

แต่เมื่อพระราชบัญญัติพลังงงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 บังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อทันตแพทย์ ดั่งต่อไปนี้

1.ทันตแพทย์ประกอบวิชาชีพทันตกรรมภายใต้ พรบ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 ซึ่งมีทันตแพทย์สภาเป็นองค์กรควบคุมให้การประกอบอาชีพเป็นไปตามมาตรฐานและมีจริยธรรม เมื่อเครื่่องเอกซเรย์ฟันเป็นเครื่องมือที่บังคับให้ต้องมีในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมในคลินิกตามกฎกระทรวงที่กำหนดชนิดและจำนวนเครื่องมือในสถานพยาบาล พ.ศ.2558 ซึ่งส่งผลให้ การประกอบวิชาชีพทันตกรรมจะต้องถูกควบคุมโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทยสภา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. พรบ.วิชาชีพทันตกรรมกำหนดการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยมีอัตราค่าธรรมเนียมไว้ไม่เกิน 4,000 บาทและกำหนดใบอนุญาตไว้ไม่เกิน 5 ปี โดย พรบ.พลังงานิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 กำหนดใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีไว้ไม่เกิน 3 ปี และอัตราค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาตไม่เกิด 5,000 บาท และอายุใบอนุญาตมีไว้ครอบครองไม่เกิน 5 ปี และอัตราค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาต สูงถึง 50,000 บาท อันเป็นภาระเกินควรแก่ทันตแพทย์

3.อัตราโทษตาม พรบ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 สูงกว่า พรบ.ปรมาณูเพื่อสันติ 2504 และงบางมาตราอัตราโทษปรับสูงกว่าโทษตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาลและพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรมมาก ทำให้ทันตแพทย์ผู้ปฏิบัติมีความกังวลใจ เกิดความเครียดในการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนได้

ทั้งนี้ทางเครือข่ายทันตแพทย์ ได้เสนอแนวทางออก ดังต่อไปนี้

1.ออกฎกระทรวงกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ก่อให้เกิดรังสีเอกซเรย์ที่ใช้ในทางทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 18

2.ทันตแพทย์ที่จบปริญญาทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตได้ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรรังสีวิทยาเพื่อใช้ในงานทางทันตกรรม   จึงเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 ที่จะขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 26(2) มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี

ทั้งหมดนี้ทางทันตแพทยสภาเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากทันตแพทย์เวลารักษาคนไข้ บางกรณี ต้องอาศัยการเอ็กซเรย์ประกอบวินิจฉัย จะทำไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีอยู่คอยกำกับ ซึ่งหลักการกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยผู้แทนทันตแพทย์ฯ ได้เรียกร้องให้เครื่องเอ็กซเรย์ฟันได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี หรือ RSO และขอให้ผู้แทนทันตแพทย์ฯ  เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ด้วย

ทางด้าน รศ.นพ.สรนิต  ศิลธรรม  ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า  แนวทางและการแก้ไขปัญหาข้อกังวลต่างๆ เรามีความเห็นตรงกัน คือ การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ช่วยผู้ปฏิบัติงาน เราจะทำอย่างไรให้เกิดข้อตกลงและจุดประสงค์ที่เป็นไปได้ เนื่องจาก พรบ. ออกมาแล้ว แต่ยังพอมีเวลาที่จะร่างกฎกระทรวง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงๆ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560  โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการคุยกัน หารือกับทางทันตแพทย์สภา ทันตแพทย์สมาคม และเมื่อสักครู่ได้มีการพูดคุยกับผู้แทนทันตแพทย์ 3 กลุ่ม เพราะกฎกระทรวงยังไม่ออก  แต่จุดประสงค์ของเรา คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน  ซึ่ง โดยประเด็นที่เกิดขึ้นมีด้วยกัน 4 ประเด็น คือ 1.เครื่อง x-ray ที่จะต้องขึ้นทะเบียนจะเป็นยังไง ซึ่งต้องดูตามหลักวิชาการ 2. คนที่ดูแลในคลินิกหรือ RSO เพื่อการันตีว่าการปฏิบัติงานมีความปลอดภัย 3. เรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา โดยมีค่าขึ้นทะเบียนเครื่อง 1000บาท/5ปี และการสอบขึ้นทะเบียน 500 บาท และมีค่าใช้จ่ายใบอนุญาตต่อปี 300 บาท/3ปี ทั้งหมดนี้รวมแล้วไม่ถึง 2000 บาท 4. สมาคมปรมาณู ได้หยุดกิจกรรมที่อาจเกิดปัญหาขึ้นถึง 1 กุมภาพันธ์ 2560 รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการสอบผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใสของสมาคมและของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เอง ในการดำเนินงานขั้นถัดไป คือ การหารือกันเพื่อหาแนวทางร่วมกันและหาทางออกที่ดีที่สุด