ทำไม‘เริงชัย’ ไม่ต้องชดใช้ 1.86 แสนล้าน เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีป้องค่าเงินบาท

19 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
เป็นคดีสำคัญทางประวัติศาสตร์การเงินไทย วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (โจทก์ที่ 1) และทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (โจทก์ที่ 2) ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย (นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธปท.) เรียกค่าเสียหายจากการทำธุรกรรมนำทุนสำรองทางการไปปกป้องค่าเงินบาท (สว็อป)ในวงเงิน 1.86 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_106701" align="aligncenter" width="335"] เริงชัย มะระกานนท์ เริงชัย มะระกานนท์[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ประมวลข้อกล่าวหาฟ้องร้องของโจทก์ และคำพิพากษาของศาลฎีกา ดังนี้

  โจทก์
ในช่วงเกิดเหตุคดีนี้จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.(โจทก์ที่ 1) ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2539 ถึง 28 กรกฎาคม 2540 และเป็นกรรมการในคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (โจทก์ที่ 2) ด้วยประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบคงที่ในระบบตะกร้าเงิน ( Basket Currency )โดยโจทก์ที่ 2 จะดำเนินการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและกำหนดอัตรากลางระหว่างอัตราซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2527

ต่อมามีการผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการควบคุมปริวรรตเงินตรา และจัดตั้งวิเทศธนกิจ (BIBF )ในเดือนกันยายน 2536 เป็นเหตุให้มีเงินทุนต่างประเทศไทยเข้ามาลงทุนในภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก มีการใช้จ่ายเงินมากเกินไป เกิดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาดุลการชำระเงิน ประเทศเริ่มมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง

กระทั่งปลายปี 2539 การส่งออกสินค้าชะลอตัวลงอย่างมาก เกิดปัญหาความซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่เชื่อมั่นในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทย มีการถอนเงินลงทุนออกไป ภาคเอกชนต้องชำระหนี้มากขึ้น โจทก์ที่ 2 ต้องขายเงินตราต่างประเทศให้ธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในทางต้องการให้มีการลดค่าเงินบาท และปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน ในเดือนธันวาคม 2539 อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ในตลาดอยู่ในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์ที่ 2 ประกาศ โจทก์ทั้ง 2 นำเงินสำรองทางการเข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปซื้อเงินบาท เพื่อให้เงินบาทในตลาดมีเสถียรภาพ

การแทรกแซงดังกล่าวทำให้ขาดสภาพคล่องในระบบการเงิน อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จำเลยจึงอนุมัติให้โจทก์ที่ 1 นำเงินสำรองทางการการทำธุรกรรมซื้อขายเงินต่างประเทศล่วงหน้าหรือธุรกรรมสว็อป (Buy-Sell-Swap) โดยนำเงินบาทไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และมีข้อตกลงจะซื้อเงินบาทคืนในจำนวนเดียวกันในเวลาที่กำหนด

ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 นักเก็งกำไรต่างชาติปล่อยข่าวลือว่าจะมีการลดค่าเงินบาทและได้โจมตีค่าเงินบาทโดยการระดมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯและขายเงินบาท โจทก์ที่ 1 โดยการอนุมัติของจำเลยเข้าแทรกแซงตลาดการเงินโดยการขายเงินดอลลาร์และรับซื้อเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เงินทุนสำรองทางการสุทธิเมื่อหักภาระสว็อปจึงลดลงเรื่อย ๆ จนวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 มีทุนสำรองทางการ 34,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีภาระการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ภาระสว็อป) ถึง 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีทุนสำรองทางการสุทธิ (34,300 หัก 27,000) เพียง 7,300 ล้านดอลลาร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 กระทรวงการคลัง ประกาศปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยใช้ระบบลอยตัว วันดังกล่าวมีทุนสำรองทางการ 32,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีภาระสว็อป 29,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จำนวนนี้ถูกใช้เพื่อธุรกรรมปกป้องค่าเงินบาท 15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงเหลือทุนสำรองทางการสุทธิเพียง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับจำเลยอนุมัติให้ใช้ทุนสำรองทางการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทถึงวันที่ประกาศลอยค่าตัวค่าเงินบาทเป็นเงิน 36,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยที่จำเลยไม่ได้กำหนดขอบเขตการใช้ทุนสำรองทางการเพื่อการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ทุนสำรองทางการลดลงมากจนเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงในฐานะการเงินของประเทศ และไม่มีดำริจะปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้ยืดหยุ่นและให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริง แม้ฝ่ายการธนาคารของโจทก์ที่ 1 จะได้เสนอให้จำเลยทบทวนกำหนดขอบเขตในการใช้เงินสำรองทางการเพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทที่ไร้ผล และ IMF เตือนหลายครั้งให้ลดค่าเงินบาทลงประมาณ 10-15% และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายให้จำเลยดำเนินการทบทวนนโยบายในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจำเลยจะต้องมีการทบทวนและแนะนำให้รัฐมนตรีคลังประกาศระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัวแต่จำเลยเพิกเฉย

จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้ง 2 ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องจัดหาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีราคาซื้อสูงขึ้นเมื่อเทียบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัว เป็นเงิน 193,812.59 ล้านบาท แต่เมื่อนำผลกำไรจากการทำธุรกรรมเงินต่างประเทศ ช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ถึง 30 มิถุนายน 2540 จำนวน 7,858.85 ล้านบาทมาหักทอน โจทก์ทั้งสองยังได้รับความเสียหายเป็นเงิน 185,953.74 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยที่ 7.5% ต่อปีนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 62.09 ล้านบาท รวมเป็นหนี้นับถึงวันฟ้อง 186,015.83 ล้านบาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้ง 2

 พิพากษาศาล
จากการเบิกความพยานมีความเห็นว่า การที่ประเทศไทยประกาศรับพันธะข้อ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในปี 2533 และเปิดระบบวิเทศธนกิจ (BIBF) ในปี 2536 แต่กลับผูกติดค่าเงินบาทไว้ในระบบตะกร้าเงิน โดยไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็ว แต่ผลที่ตามมาคือไทยเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2538 และปี 2539 มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 50.14 ของรายได้ประชาชาติ ปัญหาหนี้เสียและเสี่ยงจะล้มในภาคสถาบันการเงิน

“ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มปรากฏ ปี 2539 มีข่าวลือเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงของสถาบันการเงิน เกิดความตื่นตระหนก หากประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลง หนี้ต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นทันที” พยานระบุ

จำเลยได้แก้ปัญหาโดยการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ฝ่ายวิชาการขณะนั้นได้เสนอ 4 ขั้นตอนในการแก้ปัญหาคือ 1.ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน 2.การแก้ปัญหาการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ 3.การแก้ปัญหาสถาบันการเงินและ 4. เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แม้ธปท. จะเห็นด้วย แต่ติดที่ว่าบริษัทจัดอันดับความเชื่อถือ "มูดี้ส์" (Moody)เริ่มลดอันดับความน่าเชื่อของสถาบันการเงินและของประเทศไทย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในบรรดาลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ว่าอาจมีการลดค่าเงินบาท ส่งผลให้มีการเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯโดยการโจมตีค่าเงินบาทหลายครั้ง จำเลยจึงได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองออกปกป้องค่าเงินบาทโดยทำธุรกรรมสว็อป ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯจำนวนมาก และตกลงจะขายคืนในอัตราที่ตกลงกันไว้

ส่วนการจะพิจารณาการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็ติดขัดเหตุผลทางวิชาการว่าการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ควรดำเนินการเมื่อสภาพเศรษฐกิจดีหากดำเนินการระหว่างเศรษฐกิจไม่ดีจะทำให้ระบบการเงินไม่มั่นคง

พยานรายหนึ่งเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม 2540 ที่มีการโจมตีค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ จำเลยได้รายงานสถานการณ์ให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2540 ธปท.ได้สั่งแยกตลาดเงินโดยห้ามนำเงินบาทออกนอกประเทศ ทำให้นักเก็งกำไรค่าเงินรายย่อยขาดทุน นายจอร์จ โซโรส ผู้จัดการกองทุนเอช ฟันด์ เคยขอเจรจาประนีประนอมกับนายบัณฑิต นิจถาวร แต่ต่อมาขอยกเลิกนัด เพราะเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธปท.ต้องลาออกและจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เดือนมิถุนายน 2540 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองทำให้นายอำนวย วีรวรรณ ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปจริง ๆ ข่าวลือเรื่องการลดค่าเงินบาทและการโจมตีค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศยิ่งรุนแรงขึ้น

"มาตรการแยกตลาดเงินขณะที่จำเลยเป็นผู้ว่าการธปท. สามารถยุติการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่พอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีการคลังคนใหม่ก็ยกเลิกมาตรการนี้ จำเลยดำเนินมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานการณ์ ส่วนการจะปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว อยู่ในภาวะนอกเหนือการควบคุมของจำเลย"

ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงปรากฏชัดเจนว่า จำเลยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารโจทก์ที่ 1ในช่วงเวลาวิกฤติของประเทศไทยที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินบาท ท่ามกลางแรงกดดันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องลาออกไปหลายคน (สุรเกียรติ์ เสถียรไทย 18 ก.ค.38-24 พ.ค.39 ,บดี จุณณานนท์ 24 พ.ค. 39-27 ก.ย. 39) แม้แต่ผู้ว่าการธนาคารโจทก์ที่ 1 คนก่อนก็ต้องลาออกเช่นกัน ( วิจิตร สุพินิจ 1 ต.ค. 33-1 ก.ค. 39)

จำเลยพยายามศึกษาวิเคราะห์หาวิธีแก้ไขโดยปรึกษาหารือกับผู้บริหารและนักวิชาการภายในองค์กรธนาคารโจทก์ที่ 1 ใช้หลักวิชาการดำเนินการแก้ปัญหาให้ตรงจุดตามขั้นตอน คือเริ่มมีปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวและปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินมีปัญหาไปด้วย โดยยังไม่เสนอเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะจะทำให้ลูกหนี้เงินกู้ต่างประเทศมีหนี้เพิ่มขึ้นทันที เสี่ยงต่อการล้มละลาย และธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินซึ่งยังไม่มีความพร้อมที่จะเผชิญความเสี่ยงดังกล่าวก็จะมีปัญหาอาจถูกปิดกิจการไปด้วย แต่การทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวสร้างความไม่พอใจแก่นักลงทุนและนักการเมืองที่มีอิทธิพล กดดันให้มาตรการต่าง ๆไม่สัมฤทธิผล เปิดโอกาสให้มีการสร้างข่าวลือและการโจมตีค่าเงินบาทเพื่อเก็งกำไรหากค่าเงินบาทต้องลดลง

จำเลยได้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอำนวย วีรวรรณ) และคณะที่ปรึกษาหลายครั้ง แต่ทั้งรัฐมนตรีและรัฐบาล (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 25พ.ย. 39-8 พ.ย. 40) ไม่ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป การทำธุรกรรมสว็อปเพื่อประคับประคองเสถียรภาพค่าเงินบาทไว้ จึงเป็นมาตรการจำเป็นในสถานการณ์ดังกล่าว แม้มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ก็ปรากฏว่าในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัว ธนาคารโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ขาดทุน

ครั้นรัฐบาลประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัวมีกระแสกดดันทางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็ขอให้จำเลยลาออกเพื่อลดกระแส ไม่ใช่เพื่อให้จำเลยรับผิด และแม้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิด คณะกรรมการชุดต่าง ๆก็เสนอความเห็นหลายครั้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิด ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ที่ 1 อ้างว่าไม่เสนอเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก่อนหน้านั้น การไม่หยุดแทรกแซงค่าเงินบาท และการทำธุรกรรมสว็อปโดยไม่กำหนดขอบเขตการใช้เงินทุนสำรอง จึงเป็นการกระทำที่เหมาะสมแก่สถานการณ์

ไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อธนาคารโจทก์ที่ 1 ไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นค่าเสียหายใด ๆ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1มาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559