เชียงรายผวาปลานิลล้น! ถกรัฐ-เอกชนผลักเป็นอาหารแช่แข็งส่งออกเพื่อนบ้าน

18 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
อาชีพเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ฮิต สร้างรายได้ให้เกษตรกรเชียงรายปีละ 1,000 ล้านบาท จำนวน กว่า 3,000 บ่อ ล่าสุดพบมีการขยายพื้นบ่อเลี้ยงปลาไม่หยุด คาดอีกไม่นานปลาล้นตลาด รัฐ-เอกชนนัดถกหาทางรับมือ เล็งผลักเข้าห้องเย็นผลิตเป็นอาหารแช่แข็ง-ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน-ส่งเสริมให้แปรรูปมากขึ้น

นายวิทยา มะสะ นักวิชาการประมงฯ ในฐานะ ผู้ช่วยผู้จัดการแปลงใหญ่สินค้าปลานิล สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงปลานิลคุณภาพ ด้วยระบบ GAP จำนวนมากเป็นอันดับ1 ของภาคเหนือ ซึ่งปีที่ 2558 ผ่านมาพบว่าจังหวัดเชียงรายมีเกษตรกรมีอาชีพการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ประมาณ 3,000 ราย มีพื้นที่บ่อรวมแล้วประมาณ 7,000 ไร่ ส่วนใหญ่ประมาณ 6,000 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอพาน มีผลผลิตออกมาสู่ท้องตลาดใน 7 จังหวัดภาคเหนือวันละประมาณ 43 ตัน ราคาปัจจุบัน(ตุลาคม2559) เฉลี่ยประมาณ 57 บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรกว่า 900 ล้านบาท/ปี เร็วๆ นี้คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ล้านบาท/ปีอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการขยายบ่อปลาเพิ่มขึ้นอีกร่วม 3,000 ไร่ ซึ่งจำนวนบ่อปลาที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้คาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของปี 2560 จะมีปลานิลออกมาสู่ท้องตลาดเกิน 50 ตัน/วัน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดรับได้เต็มที่ประมาณ 46 ตัน/วันเท่านั้น

นายวิทยา เปิดเผยถึงแนวทางในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการห้องเย็นที่ทำอาหารแช่แข็งเพื่อให้ขึ้นมารับซื้อ แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือเรื่องของราคา โดยราคาสูงสุดที่ห้องเย็นจะรับซื้อเพียง 45 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงต้องมีการขยายฐานผู้บริโภคออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่น้อยมาก

"ปลานิลที่ออกมาสู่ท้องตลาด 43 ตัน/วัน ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในเขต 7 จังหวัดภาคเหนือคือเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา และน่าน การส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านมีน้อย โดยส่งไป สปป.ลาวประมาณ 1.7 ตัน/วัน และส่งออกไปเมียนมา 2.0 ตัน/วัน จึงมองกันว่าตลาดในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศ ยังสามารถขยายได้อีกเป็นจำนวนมาก" นายวิทยา กล่าว

สอดคล้องกับ ดร.ฐิติพงศ์ ไชยองค์การ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการเกษตร และเป็นผู้เพาะเลี้ยงปลานิลรายใหญ่ในพื้นที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบ สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย ได้ประสานกับ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ จะจัดให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาปริมาณปลานิลล้นตลาดซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากว่าสามารถขยายฐานการตลาดออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากเทาไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับอาชีพการเพาะเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

"แต่การส่งออกก็ยังคงมีปัญหาเนื่องจากว่า หากต้องการบริโภคปลาที่มีคุณภาพปลาที่จะนำไปปรุงเป็นอาหารจะต้องมีความสดเป็นปลามีชีวิต แต่ปัจจุบันยังทำได้ไม่เต็มที่นัก ยังใช้วิธีการโบราณคือทำให้ปลาตายและแช่น้ำแข็งไป อนาคตหากว่ามีระบบห้องเย็นมาเพิ่มก็น่าจะทำให้คุณภาพที่จะถึงมือผู้บริโภคดีขึ้น และจะดียิ่งขึ้นหากสามารถขนส่งปลาเป็นด้วยรถยนต์ ที่มีการออกแบบมาเป็นการเฉพาะเพื่อการขนส่งปลา ซึ่งสามารถปล่อยออกซิเจนลงไปในถังปลาขณะขนส่งได้ ซึ่งจะทำให้ปลายังคงเป็นปลามีชีวิตไปจนถึงมือผู้บริโภค" ดร.ฐิติพงศ์ กล่าวและว่า

ปัจจุบันมีรถขนส่งแบบมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายประมาณ 150 คัน บรรทุกปลาได้ครั้งละ 400-600 กิโลกรัมต่อคัน หากว่ามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการขนส่งปลาเป็นให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านได้ ตลาดก็น่าจะขยายได้มากกว่าที่มีอยู่อีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ในทัศนะของผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ในเรื่องการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการตรวจสินค้าที่ล่าช้า หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ยังสูง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559