กรมชลฯฟันธงมวลนํ้าเหนือ-เจ้าพระยา ไม่ทะลัก 22จ.ในคันกั้นนํ้า-โซนเศรษฐกิจ

17 ต.ค. 2559 | 23:00 น.
กรมชลฯฟันธง มวลน้ำเหนือมีปริมาณลดลง –แผนระบายน้ำออกจากเขื่อนไม่เกิน 2,300 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที ไม่ทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่ 4 ทุ่งรับน้ำ 3 แสนไร่ ที่อยุธยา ชาวบ้านต้องการเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา สู่คลองซอยชลประทานคลองธรรมชาติ กว่า2หมื่นกิโลเมตรและแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 2,297 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือไม่เกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2559) ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ปกติ และ การไหลของน้ำยังอยู่ในแนวของคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและเกษตรของชาวบ้านแต่อย่างใด

ขณะที่ แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรองรับมวลน้ำได้สูงสุด 3,500 ล้านลูกบาสกเมตรต่อวินาที แต่ เมื่อวัดปริมาณน้ำที่ สถานีบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว (ข้อมูล ณวันที่ 12 ตุลาคม 2559) กลับพบว่า มีปริมาณน้ำที่ระบายลงเพียง 2,172 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ ยืนยันได้ว่าปริมาณน้ำเหนือและน้ำฝนนับจากนี้ น่าจะรับมือไหวโดยเฉพาะกทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

ดังนั้นฟันธงได้ว่า 22 จังหวัดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งประกอบด้วยจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาครจะรอดพ้นจากน้ำท่วม แต่จะมีผลกระทบสำหรับชุมชนริมแม่น้ำ หรือนอกคันกั้นน้ำเท่านั้น ส่วน พื้นที่ เศรษฐกิจจะไม่กระทบ เบื้องต้นประเมินว่าสามารถรับมือไหวเนื่องจากปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือลดลงแต่อาจมีบางช่วงที่ยังมีมรสุมและมีปริมาณน้ำฝนเกิด ก็พร้อมรับมือ และหากมีปริมาณน้ำมากก็สามารถใช้เส้นทางลัดเพียง600เมตรระบายออกคลองลัดโพตามแนวพระราชดำริหรือกระเพาะหมูออกชายทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการโดยไม่ต้องอ้อมไกลถึง 28กิโลเมตร

อย่างไรก็ดีหากน้ำเหนือและน้ำฝนปริมาณมาก และมีความจำเป็นต้องระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา เกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมจะเสนอ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเห็นชอบต่อไป การเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะชะลอน้ำเข้าทุ่งรับน้ำซึ่งเป็นแก้มลิงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3แสนไร่ คือ ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก-ผักไห่ ทุ่งบางบานและทุ่งเจ้าเจ็ดในกรณีที่ปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำที่พักเข้าทุ่งแก้มลิงดังกล่าว ชาวบ้านต้องการเก็บไว้ใช้ทำนาหรือปลูกพืชไร่ ในช่วงฤดูกาลถัดไปแก้ปัญหาภัยแล้ง ขณะที่น้ำ4 เขื่อนได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อน แควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่กรมชลประทานเก็บไว้ มีเพียง 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่ออุปโภค-บริโภคเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559