เอกชนดิ้นห้ามผุดรง.เหล็กเส้น อุตฯรับลูกตั้งคณะทำงานศึกษากฎหมายแก้ล้นตลาด

15 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานศึกษาเหล็กเส้นล้นตลาดหลังสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยร้องให้ระงับการออกใบอนุญาตรง.4“อรรชกา” เผยต้องขอดูข้อกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีดำเนินการได้หรือไม่ ยันผู้ประกอบการเดือดร้อนจริง ด้านผู้ผลิตชี้หวั่นเป็นการกีดกันทางการค้า เสนอปรับให้ภาครัฐดูแลเข้มงวดในการนำเครื่องจักรเก่าจากจีนมาใช้แทน หลังมีผู้ประกอบการรายใหม่อยู่ระหว่างศึกษาอีไอเอ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้ยื่นร้องเรียนมายังกระทรวงเพื่อขอให้มีการพิจารณาระงับการออกใบอนุญาตประกอบโรงงานหรือรง.4 สำหรับโรงงานผลิตเหล็กเส้นและเตาหลอมเหล็กแท่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตเหล็กเส้นล้นตลาดอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 3 ล้านตันต่อ ซึ่งหากมีการอนุมัติเพิ่มเติมจะทำให้ปริมาณกำลังการผลิตเหล็กเส้นเกินความต้องการเป็นอย่างมากนั้น

โดยล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับเรื่องดังกล่าวมาดำเนินการแล้ว และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ไปดำเนินการจัดตั้งคณะทำทำงานศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืนแล้ว ซึ่งมีคณะทำงานประกอบไปด้วยหน่วยงานจาก สศอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ผู้แทนจากภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังประสบปัญหาภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวจะมาศึกษา เสนอแนะ แนวทางในการแก้ไขปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมเหล็ก แนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็ก รวมถึงการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งผลการศึกษานี้อาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด

"ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการห้ามตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นแห่งใหม่เกิดขึ้นนี้ เพราะมีเรื่องข้อกฎหมายด้วยว่าให้อำนาจรัฐมนตรีหรือไม่ที่จะไปสั่งห้ามตั้งโรงงานเหล็กใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ก่อนหน้านี้มีการส่งเรื่องมา ก็ได้ส่งเรื่องกลับไปให้สศอ.และกรมโรงงานช่วยกันดู ตรงนี้ถ้ากฎหมายบอกสามารถให้อำนาจรัฐมนตรีทำได้ก็ยินดีทำ เนื่องจากเวลานี้เหล็กเส้นล้นตลาดมาก ผู้ประกอบการกลุ่มเหล็กที่มีโรงงานอยู่แล้วก็ประสบปัญหาประเด็นอยู่ที่ว่ากฎหมายที่มีอยู่นี้ให้อำนาจรัฐมนตรีหรือไม่ก็ยังต้องดูกันอยู่"

นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นไชย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยว่า สำหรับการตั้งคณะทำงานฯในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นความคืบหน้าระดับหนึ่งในการที่ภาครัฐจะเข้ามาแก้ไขปัญหาปริมาณเหล็กเส้นที่มีกำลังการผลิตล้นตลาดอยู่ในเวลานี้ ซึ่งกรอบระยะเวลาในการศึกษายังไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะคณะทำงานเพิ่มเริ่มตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาและยังไม่ได้มีการหารือในนัดแรก แต่ที่ผ่านมาทางสมาคมฯก็ได้มีการหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องถึงทำให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูเรื่องนี้

สำหรับในข้อร้องเรียนดังกล่าว ทางสมาคมเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็กเส้นที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม จำนวน 60 โรงงาน มีกำลังผลิตรวมกันมากกว่า 13 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นในประเทศมีอยู่ไม่ถึง 3 ล้านตันต่อปี หากมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นใหม่เกินขึ้นอีก ก็จะทำให้เหล็กเส้นล้นตลาดมากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตของผู้ผลิตรายเดิมก็ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาแนวทางแก้ไขครั้งนี้ ทางสมาคมฯก็มีความเป็นห่วงว่า หากจะให้ระงับการออกใบอนุญาตรง.4 อาจจะเป็นการกีดกันทางการค้าหรือการลงทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งในการหารือเบื้องต้นกับคณะทำงานฯ อาจจะปรับเปลี่ยนมาเป็นให้ภาครัฐดูแลหรือกำกับเป็นพิเศษ กรณีโรงงานที่จะขอตั้งใหม่จะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ใช่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรมือ 2 จากจีน มาใช้ ทำให้ก่อให้เกิดมลพิษ และคุณภาพเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกรณีนี้ทางสมาคมฯไม่เห็นด้วย เพราะหากตั้งโรงงานได้จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้ผู้ผลิตปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าได้

โดยทราบว่าปัจจุบันมีโรงงานเหล็กเส้นที่นำเข้าเครื่องจักรมือ 2 จากจีนแล้วประมาณ 3 ราย กำลังผลิตรวมกันประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเออยู่ หากไม่เข้มงวดหรือกำกับในการตั้งโรงงาน ส่วนหนึ่งเกรงว่าผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพเหล็กที่ผลิตได้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559