คำพิพากษาศาลฎีกา ยืนยกฟ้อง ‘เริงชัย’ พ้นผิดป้องค่าเงิน

12 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
เป็นคดีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินที่มีค่าเสียหายแพงมหาศาลถึง 1.8 แสนล้านบาท คดีนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องนายเริงชัย มะระกานนท์ ขณะเป็นผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (13 ก.ค. 39-28 ก.ค. 40) ได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองทางการ แทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ทำให้ ธปท.ต้องรับภาระส่งมอบเงินดอลลาร์ จากการทำธุรกรรมขายดอลลาร์ในตลาดเงินตราคิดเป็นเงินบาทถึง 193,812.59 ล้านบาท แต่เมื่อหักผลกำไรจากการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สว็อป) ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 - 30 มิถุนายน 2540 จำนวน 7,298.771 ล้านบาท ความเสียหายทั้งหมดที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ในส่วนขาดทุนให้กับโจทก์ทั้งสอง บวกด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 185,953,740,000 บาท โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน62,090,720 บาท รวมเป็นทุนทรัพย์ทั้งสิ้นที่ฟ้องเป็นเงิน 186,015,830,720 บาท และต้องชำระดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

[caption id="attachment_104929" align="aligncenter" width="335"] เริงชัย มะระกานนท์ เริงชัย มะระกานนท์[/caption]

คดีนี้โจทก์ทั้งสองได้มอบหมายให้อัยการฝ่ายคดีแพ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ในยุคที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการธปท. ก่อนที่ 4 ปีต่อมา ในเดือนมีนาคม 2548 นายเริงชัย จะออกปกป้องตัวเองฟ้องกลับ ผู้ว่าการธปท.ในข้อหาละเว้นไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 18 และ 20 เรียกค่าเสียหาย 198,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ทั้งนี้เพราะไม่ว่าผลศึกษาของคณะกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิด ชุดศปร.1, ศปร.2 หรือศปร. 3 ต่างระบุผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการปกป้องค่าเงินบาทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนายอำนวย วีรวรรณ รองนายกฯและรมว.คลัง (ดำรงตำแหน่ง 29 พ.ย. 39-21 มิ.ย.40) นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการธปท. (2538-2540) ฯลฯ แต่เวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งยกฟ้อง โดยให้เหตุผลการกระทำของผู้ถูกฟ้องยังไม่กระทบสิทธิของผู้ฟ้องหรือเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

หากจะย้อนในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี(25 พ.ย.39-8 พ.ย.40) และนายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นผู้ว่าการธปท. (13 ก.ค.39-28 ก.ค.40) ค่าเงินบาทได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากกองทุนเก็งกำไร(เฮดฟันด์) ในขณะที่การกำหนดค่าเงินบาทในช่วงนั้นเป็นระบบตะกร้าเงิน (อัตราแลกเปลี่ยนคงที่) โดยเคลื่อนไหวระดับ 25-26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังถูกโจมตีอย่างหนัก ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากการนำไปทุ่มสู้การโจมตีค่าเงินบาท

จนในที่สุดรัฐบาลต้องนำประเทศเข้าสู่แผนฟื้นฟูของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และหนึ่งในเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตาม ก็คือการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ในยุคที่นายทนง พิทยะ มาเป็นรัฐมนตรีคลัง (21 มิ.ย.40 - 24 ต.ค.40) เพื่อแลกกับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเป็นเงินกู้ 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง ณ เวลานั้นไทยมีทุนสำรองทางการคงเหลือ 2.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับทุนสำรองทางการสุทธิติดลบ 1.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯระหว่างดำเนินนโยบายแทรกแซงค่าเงินบาท

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ให้นายเริงชัย จำเลยต้องชดใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2541 แก่ ธปท.โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องกองทุน โจทก์ที่ 2 เนื่องจากไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาท ต่อมานายเริงชัยได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมขอทุเลาการบังคับคดีโดยยังไม่ต้องชำระ จนกว่าคดีนี้จะมีพิพากษาถึงที่สุด

มาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ในชั้นศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินพิพากษากลับให้ยกฟ้องนายเริงชัย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนายเริงชัยขณะนั้นไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาท แต่เป็นไปตามวิสัยที่เกิดขึ้นขณะนั้นตามความเหมาะสม และการพิจารณาถึงมาตรการใดๆ ก็ได้หารือในคณะ ไม่ใช่การตัดสินใจด้วยความประมาทเลินเล่อเพียงลำพัง

และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง "เริงชัย มะระกานนท์" ว่าไม่มีความผิดและไม่ต้องใช้เงินคืนธปท. 1.8 แสนล้านบาท โดยในช่วงท้ายของคำพิพากษาศาลๆ ระบุว่า จำเลย (นายเริงชัย) ได้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะที่ปรึกษาหลายครั้ง แต่ทั้งรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปการทำธุรกรรมสว็อปเพื่อประคับประคองเสถียรภาพภาพค่าเงินบาทไว้ จึงเป็นมาตรการจำเป็นในสถานการณ์ดังกล่าว แม้มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ก็ปรากฏว่าในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัว ธปท.โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 (กองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน) ไม่ได้ขาดทุน ครั้นรัฐบาลประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นลอยตัว มีกระแสกดดันทางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็ขอให้จำเลยลาออกเพื่อลดกระแส ไม่ใช่เพื่อให้จำเลยรับผิด และแม้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิด คณะกรรมการชุดต่าง ๆก็เสนอความเห็นหลายครั้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิด ดังนั้น การกระจำของจำเลยที่ธปท. โจทก์ที่ 1 อ้างว่าไม่เสนอเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก่อนหน้านั้น การไม่หยุดแทรกแซงค่าเงินบาทและการทำธุรกรรมสว็อปโดยไม่กำหนดขอบเขตการใช้เงินทุนสำรอง จึงเป็นการกระทำที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ ไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อธนาคารโจทก์ที่ 1 ไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นค่าเสียหายใด ๆที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 มาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ถือเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงิน และล้างมลทินให้กับอดีตผู้ว่าการธปท. "เริงชัย มะระกานนท์" รอคอยนานถึง15 ปี(12 ธ.ค.44-5 ต.ค. 59)

 เปิดใจคนร่วมประวัติศาสตร์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ผู้ช่วยธปท.ดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินฯขณะนั้น )กล่าวว่า ส่วนตัวผมเอาใจช่วยในการต่อสู้คดีของคุณเริงชัยมาตลอด เมื่อผลของศาลฯออกมาก็รู้สึกโล่งใจ เพราะรู้ดีว่าท่านทำดีที่สุดแล้ว ไม่ใช่การทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การตัดสินใจในครั้งนั้น ก็ได้มีการหารือในรูปของคณะกรรมการ ไม่ใช่โดยบุคคลหนึ่ง

" 15 ปีคุณเริงชัยไม่เพียงจะเสียโอกาส ความก้าวหน้า บั่นทอนเรื่องกำลังใจ ประเทศหรือองค์กรเองก็ขาดคนที่มีศักยภาพ บทเรียนในครั้งนั้นยังทำให้ข้าราชการทั้งหมดอดไม่ได้ที่จะชำเลืองมอง เกิดข้อระแวงต่อการทำงาน เป็นบทเรียนที่ดีในแง่กระบวนการทำงานของข้าราชการต่อไปว่า ต้องมีข้อมูล การตัดสินใจใดๆ ต้องรอบครอบ รอบด้านในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อจะเป็นเกราะกำบังป้องกันตัวเอง เช่นเดียวกับบทเรียนข้าราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการจำนำข้าว แม้ทั้ง 2 เรื่องรายละเอียดจะต่างกันอย่างสิ้นเชื่อ เนื่องจากโครงการจำนำข้าวยังมีข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริต แต่เรื่องของธุรกรรมป้องค่าเงินไม่ใช่ก็ตาม"

เมื่อถามว่าได้พบคุณเริงชัยบ้างไหม ? นายธีระชัย กล่าวว่า หลังผมพ้นตำแหน่งใหม่ ๆ( รมว.คลัง) ได้เจอโดยบังเอิญ ท่านมีจิตที่ผ่องใส มีสุขภาพที่ดี มีความสุขกับการเลี้ยงหลาน และพูดคุยสักพักใหญ่ ผมก็รู้ว่าท่านยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง ก็ดีใจ แต่อย่างที่บอกว่าเสียดายศักยภาพของท่าน

นายศิริ การเจริญดี กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น สะท้อนถึงปัญหาในหลาย ๆด้านที่สะสมมานาน และการที่ฝ่ายการเมืองจะมาลงเอยให้ภาคการเงินเป็นตัวแก้ปัญหาทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ นโยบายการเงินไม่ใช่ยาวิเศษ ต้องผสมผสานหลาย ๆนโยบายแก้ไข และผมก็เห็นสอดคล้องว่าคุณเริงชัยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เพราะท่านได้หารือหลายฝ่ายหลายครั้ง เพียงแต่การตัดสินใจถูก-ผิด เป็นอีกเรื่อง แต่ในหลักปฏิบัติท่านทำเต็มที่ไม่ได้ละเลย

"จุดหนึ่งขณะนั้นปัญหาประดังเข้ามาเร็วมาก ทำให้ท่านต้องตัดสินใจเพื่อรับมือกับปัญหา จึงได้ออกคำสั่งภายใน แบ่งสายงาน (เขียนด้วยลายมือ ไม่ผ่านคณะกรรมการ) มีการวางตัวบุคคลดูกลุ่มงาน "ตลาดเงิน/บริหารอัตราแลกเปลี่ยน" อีกกลุ่มดู "สถาบันการเงิน" โดยกลุ่มหลังมีท่านเริงชัย คุณธีระชัย ดูฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน และผมซึ่งแรก ๆก็ดูตลาดเงินตอนหลังมาบวกสถาบันการเงิน " นายศิริ กล่าวและว่า กระแสสังคมในช่วงหนึ่งแรงมาก ข้อหาที่ถูกกล่าวโทษก็ทำให้คนดีๆต้องเสียโอกาสในช่วง 15 ปี หากไม่โดนกับใครก็ไม่รู้หรอกว่ามันแย่ขนาดไหน"

ด้านนายเอกกมล คีรีวัฒน์ (มาเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ช่วง มี.ค.35- ธ.ค.38 ก่อนหน้าเคยเป็นรองผู้ว่าธปท.) กล่าวว่า ผลการพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้ยกฟ้องนายเริงชัย ไม่ได้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับผมเลยนะ เพราะ10 ปีที่แล้ว ในชั้นศาลที่ผมถูกเชิญไปเป็นพยานหลายรอบ (ในฐานะที่ปรึกษารักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน) ก็ให้ความเห็นไปทุกครั้งว่าธุรกรรมสว็อปเป็นเรื่องของเทคนิคคัล ไม่ใช่เรื่องว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของนโยบาย ส่วนคนที่ตอบว่าถ้าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน จะไม่ทำแบบนี้ ผมว่าเป็นตอบหลังเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว คนที่มีส่วนร่วมในครั้งนั้น วันนี้จะว่ากันอย่างไรล่ะ ?

" ผมเพิ่งวางสายคุยกับ คุณเริงชัย ( 6 ต.ค. 59 ) ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไป แสดงความยินดีว่าท่านพ้นมลทิน เพราะสำหรับชีวิตหนึ่ง มันคือค่าเสียโอกาสถึง 15 ปี และยังเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ซึ่งชีวิตบางทีก็เป็นเรื่องของโอกาสและเวลา บางคนในอดีตก็โชคดี. ก็คุยกันตามประสาคนแก่ที่อายุเกิน 70 ปี กันทั้งนั้น "

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สอบถามไปยังนายเริงชัย ตอบเพียงสั้น ๆว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดใจในขณะนี้ เช่นเดียวกับนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (รองผู้ว่าธปท.ในขณะนั้น) กล่าวเพียง " ผมขออนุญาตที่จะไม่พูดเรื่องนั้น เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว และที่ผ่านมาผมก็จะไม่พูดเรื่องเก่า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559