จิวเวลรี GEN Y ชูจุดขายด้วยงานฝีมือไทย

16 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่มีแต่จะลดปริมาณลง สินแร่และอัญมณีต่างๆ กลายเป็นของหายากและมีราคาพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ความต้องการในฐานะเครื่องประดับร่างกายให้ทรงเสน่ห์ น่าค้นหา และแสดงตัวตนของผู้สวมใส่ไม่เคยลดลง

นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของวัตถุมีค่าทางธรรมชาติหลายชนิด ยังเป็นศูนย์รวมผู้มีความสามารถ เป็นบ่อเกิดศิลปวัตนธรรมและงานหัตกรรมทรงคุณค่าสืบต่อรุ่นสู่รุ่น และดูเหมือนว่าจิตวิญญาณนักสร้างสรรค์ของคนไทยจะไม่มีวันดับสูญ ไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย งานศิลปหัตถกรรมของไทยยังคงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมานักต่อนัก การเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยมและการเปิดกว้างทางความคิดทำให้นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ สามารถปล่อยพลังจินตนาการสร้างศิลปะบนชิ้นงานที่รักได้อย่างเต็มที่ จนผลิตเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิในของสินค้า Made in Thailand

วันนี้เราขอยกต้นแบบนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ไม่เคยหยุดฝัน พัฒนาฝีมือจนสร้างมูลค่าให้กับเครื่องประดับที่คงความงดงามและยังสะท้อนอัตลักษณ์ของผู้สร้างชิ้นงานตามความรสนิยมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในคูหา “Thai Jewelry Brands Showcase 2016” ภายในงาน บางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 58 (The 58th Bangkok Gems and Jewelry Fair) ที่ผ่านมา มา ซึ่งบางส่วนนั้นยังเป็นผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย 2559 เพื่อเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ด้วย

[caption id="attachment_105509" align="aligncenter" width="500"] LERIE LERIE[/caption]

ท่านแรกเจ้าของแบรนด์ อัญญเลอรี่ (ANYALLERIE) คุณนันทนุช ตั้งอุทัยศักดิ์ วิลาสศักดานนท์ จากจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์จิลเวลรีรายใหญ่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมองเห็นศักยภาพของตนเองว่า “ฝีมือการออกแบบและการผลิตของเราก็ไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ” จึงคิดทำแบรนด์ของตัวเอง ภายใต้ชื่อ อัญญเลอรี่ โดยเอกลักษณ์ของแบรนด์จะนำลักษณะเด่นของธรรมชาติทั้ง ดอกไม้ ผีเสื้อ และอื่นๆ เข้ามาสร้างสรรค์เป็นผลงานจิวเวลรี ไม่ว่าจะเป็น เข็มกลัด แหวน เป็นต้น เพราะด้วยโครงสร้างของธรรมชาตินั้นมีความอ่อนช้อยเหมาะกับสุภาพสตรี ในการสวมใส่

เสน่ห์ของแบรนด์จะอยู่ที่การออกแบบและการผลิตแบบแฮนด์เมดโดยช่างฝีมือของประเทศไทย ประกอบกับการใช้เทคนิคงานไร้หนามและงานจิกไข่ปลา เพื่อสร้างความสวยงามให้แก่เครื่องประดับ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตเป็นอย่างมาก เพราะเครื่องประดับแต่ละชิ้นจะเน้นการเจียระไนอัญมณีในรูปทรงต่างๆ ทีละเม็ดให้เข้ากับโครงแบบที่วางไว้ รวมไปถึงการที่เราคัดสรรอัญมณีจากแหล่งกำเนิด อาทิ ทับทิมจากประเทศเมียนมาหรือบลูแซพไฟร์จากประเทศศรีลังกา ซึ่งความงามของอัญมณีจากแหล่งเหล่านี้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันแบรนด์ อัญญเลอรี่ มีการจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ อย่างแถบเอเชีย และยุโรป”

[caption id="attachment_105504" align="aligncenter" width="500"] SARRAN SARRAN[/caption]

แบรนด์ ศรัณย์ (SARRAN) ด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ร้อยเรียงความเป็นไทยเข้าไปได้อย่างลงตัว นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ คุณศรัณย์ อยู่คงดี กล่าวว่า “เอกลักษณ์หรือจุดเด่นของแบรนด์ คือ “Thai Emotion” เน้นความเป็นไทยในแง่มุมใหม่ที่ไม่ได้หยิบแค่ศิลปวัฒนธรรมมาเล่าเรื่องแต่เป็นการตีความหมายใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะให้สามารถอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตในปัจจุบันได้อย่างลงตัว ดังนั้นคอนเซ็ปต์หลักของแบรนด์จึงเป็นเรื่องของ Art to wear หรือศิลปะที่สวมใส่ได้ ทำให้คำจำกัดความคำว่า จิวเวลรี ในความหมายของแบรนด์ศรัณย์ จึงไม่ได้ผูกติดกับอัญมณีที่มีค่าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการนำสิ่งของที่คนมองไม่เห็นค่ามาสร้างมูลค่าให้เทียบเท่ากับอัญมณี โดยใช้เทคนิคหัตถกรรมการประดิษฐ์ดอกไม้ในวังหลวงมาประยุกต์ ตั้งแต่การขึ้นรูป ตอกงาน ไปจนถึงการย้อมสี เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ ของไทย ซึ่งสาเหตุที่เลือกดอกไม้สร้างเป็นแนวคิดหลักของแบรนด์เพราะคนไทยมีความผูกพันกับดอกไม้มาตั้งแต่เกิดกระทั่งหมดลมหายใจ

สำหรับคอลเลกชันหลักของแบรนด์จะใช้วัตถุดิบหลักที่เป็นผ้า โดยนำเศษผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาผ่านกระบวนการทางความร้อน ทำให้เกิดเป็นวัตถุดิบใหม่ขึ้นมา สามารถเก็บกลิ่น และทนต่อการใช้งาน จากนั้นจะอาศัยฝีมือด้านหัตถกรรมของช่างไทยในการแกะลวดลายให้เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งบางผลงานอาจไม่ได้นำเสนอ เรื่องดอกไม่ตรงๆ แต่จะเป็นการนำมุมบางส่วนของดอกไม้มาตีความหมายใหม่ นอกจากนี้ อีกหนึ่งเอกลักษณ์เด่นของแบรนด์คือการใช้เทคนิค “อบร่ำ” คือการอบกลิ่นหอมของไทยในสมัยก่อน อาทิ การอบผ้าสไบด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ หรือการอบขนมจากควันเทียน เป็นต้น มาใช้ในการอบเครื่องประดับเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม ทั้งนี้ ยังมีการนำงานไม้และงานทองเหลืองมาช่วยเสริมให้ผลงานดูมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นด้วย”

[caption id="attachment_105505" align="aligncenter" width="333"] CASO CASO[/caption]

อีกหนึ่งสไตล์ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบันอย่างมินิมอล (Minimal) คุณศิริรัตน์ เจียมพจมาน เจ้าของแบรนด์ คาโซ (CASO) เล่าว่า “แบรนด์คาโซ เป็นแบรนด์จิวเวลรีที่คงคอนเซ็ปต์การออกแบบให้เป็น “งานศิลปะขนาดเล็ก” สามารถสวมใสได้ในชีวิตประจำวัน มีความเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยเอกลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนถึงบุคลิกและไลฟ์สไตล์ของผู้สวมได้อย่างชัดเจน

เอกลักษณ์เด่นของผลงาน คือการนำรูปแบบของศิลปะแนว Sculpture หรืองานประติมากรรม มาใช้ในการออกแบบ โดยใช้เส้นสายมาสร้างเป็นโครงเรือนเครื่องประดับเพื่อให้เกิดรูปทรงหรือมิติของเครื่องประดับแบบใหม่ขึ้นมา และอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญของแบรนด์คือพื้นผิวของจิวเวลรีเหล่านี้จะใช้เทคนิคที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเงาและความด้าน รวมไปถึงเทคนิคการเล่นสี เพื่อให้เกิดสัมผัสที่แตกต่างและเพิ่มความสวยงาม

จะเห็นได้ว่าจากจินตนาการ ฝีมือ และความเพียรในการหาความรู้และเปิดรับมุมมองใหม่ๆ เข้ามาใช้กับผลงาน โดยเฉพาะงานช่างฝีมือไทยหรือศิลปหัตถกรรมไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เครื่องประดับธรรมดากลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญ เตะตาต้องใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ยังคงหลงใหลในเสน่ห์ของความเป็นไทยไม่เสื่อมคลาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559