รัฐใจปํ้าอัดงบกว่า1.5พันล. ลุย 39 โครงการเร่งด่วนพัฒนาชายแดนใต้

13 ต.ค. 2559 | 01:00 น.
"ฐานเศรษฐกิจ" เกาะติดมาต่อเนื่องเกี่ยวกับแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองต้นแบบ "สามเหลี่อมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ซึ่งประกอบด้วย พัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูป" อ.เบตง จ.ยะลา เป็น "เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน" และอ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็น "ศูนย์กลางการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ" โดยเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของพื้นที่ ให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น กระจายรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น

"ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศอ.บต.) ร่วมกับ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (สศช.) หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ จัดทำรายละเอียดโครงการ เสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)

[caption id="attachment_105292" align="aligncenter" width="700"] โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ กรอบวงเงิน 5,175.389 ล้านบาท โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ กรอบวงเงิน 5,175.389 ล้านบาท[/caption]

ดัน 39 โครงการหนุนเอกชนลงทุนเร็ว

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ประชุม "คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" (คปต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบหลักการ กรอบแนวคิด และแนวทางการพัฒนาโครงการฯดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองต้นแบบฯ รวมทั้งสิ้น 63 โครงการ กรอบวงเงินรวม 5,175.39 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนโดยเร็วจำนวน 39 โครงการ

มี 17 โครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2560 แล้ว คือโครงการปรับปรุงแผนกันคลื่นที่จอดพักเรือ ท่าเทียบเรือปัตตานี และปรับปรุงพื้นที่หลังท่า จ.ปัตตานี วงเงิน 248.14 ล้านบาท โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน 4.56 ล้านบาท และโครงการติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดไฟฟ้าเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา 78.60 ล้านบาท

ส่วนอีก 14 โครงการเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.โครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรครบวงจร 3.โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าฮาลาลและแปรรูปจากการเกษตร 4.โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับระบบขนส่งด้านโลจิสติกส์และก่อสร้าง 5.โครงการฝึกอาชีพศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานสู่เมืองต้นแบบ 6.โครงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการรับรองความรู้ความสามารถในการทำงานสู่เมืองต้นแบบ 7.โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 8.โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับระบบขนส่งด้านโลจิสติกส์และก่อสร้าง

ทั้งยังมีโครงการพัฒนาพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับภาคอุตสาหกรรมและบริการเพื่อการแข่งขันในจ.นราธิวาส และปัตตานี รวม 3 โครงการ วงเงินรวม 1.7 แสนบาท และโครงการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานทั้งระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการประกอบอาชีพ จ.ปัตตานี รวมถึงโครงการฝึกอาชีพแรงงานใหม่สู่เมืองต้นแบบ และโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานรอบรับการท่องเที่ยวและบริการสู่เมืองต้นแบบในพื้นที่จ.ยะลา รวมวงเงินทั้งสิ้น 343.641 ล้านบาท

 เทงบกว่าพันล.พัฒนา 3 ด้านหลัก

ส่วนอีก 22 โครงการนั้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติเงินงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปี 2560 กรอบวงเงินรวม 1,190.95 ล้านบาท เนื่องจากเห็นความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ แต่ยังไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2560 โดยสามารถแบ่งออก 3 ด้าน ดังนี้

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงการแบ่งทิศทางการจราจรเพื่อความปลอดภัย (หมายเลข 42 ตอนนาจวก-ดอนรัก 0.9 กม.) งบประมาณ 11 ล้านบาท 2.ปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงปัตตานีให้มีมาตรฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมประมง อาหารปลอดภัยและฮาลาล 35 ล้านบาท 3.แก้มลิงเก็บกักน้ำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 12 ล้านบาท 4.ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน 22.30 ล้านบาท 5.โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำเพิ่มประสิทธิภาพระดับแปลงนา ต.ดอนรัก ต.บ่อทอง ต.ปุโละปุโย ต.ยาบี และ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 55 ล้านบาท

6.โครงการปรับปรุงและยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และส่งเสริมจัดตั้งคลังสินค้า 185.20 ล้านบาท 7.โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง 327.50 ล้านบาท 8.โครงการตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี 20 ล้านบาท 9.โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 10 ล้านบาท 10.ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมถนนทางเข้าแหล่งท่องเที่ยว บ่อน้ำร้อนบ้านปิยมิตร 5 ล้านบาท

11.โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำอัยเยอร์เบอร์จัง หมู่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์ 7 ล้านบาท 12.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หลักเขตจำลอง 54A 3 ล้านบาท 13.โครงการปรับปรุงถนน คสล.บริเวณทางขึ้นทะเลหมอก อัยเยอร์เวง หมู่ 4 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา 18 ล้านบาท 14.โครงการก่อสร้างถนน คสล.บริเวณทางไปทะเลหมอกฆุนุงซิลิปัด หมู่ 1 ต.อัยเยอร์เวง 18 ล้านบาท 15.โครงการก่อสร้างถนน คสล.สายช่องแคบ หมู่ 1 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา 21.50 ล้านบาท รวม 15 โครงการ วงเงิน 750.5 ล้านบาท

ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการฟื้นฟูพื้นที่รกร้างปลูกปาล์มน้ำมันในเขตเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมครบวงจร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 15 ล้านบาท 2.โครงการจัดซื้อน้ำเชื้อโคเนื้อแช่แข็งแยกเพศ เพื่อผลิตโคเนื้อรองรับอุตสาหกรรมฮาลาล 3.8 ล้านบาท 3.โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดยะลา 6.65 ล้านบาท วงเงินรวม 25.45 ล้านบาท

และด้านอื่นๆ 4 โครงการ คือ 1.โครงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 350 ล้านบาท 2.โครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 25 ล้านบาท 3.โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับของประชาชนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 20 ล้านบาท 4.โครงการชดเชยเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสำหรับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 20 ล้านบาท วงเงินรวม 415 ล้านบาท

 คปต.เตรียมประกาศขอบเขตพื้นที่

ในคราวเดียวกันในระยะเร่งด่วนนี้ ครม. มอบหมายให้ คปต.ประกาศพื้นที่ต้นแบบดังกล่าว เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของขอบเขตพื้นที่การพัฒนา รองรับการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน มาตรการการคลังและการเงินตลอดจนมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ 3 อำเภอเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

1.พื้นที่การพัฒนาหลัก ช่วงรอยต่อจังหวัดสงขลา –ปัตตานี (อ.เทพา-อ.จะนะ-อ.หนองจิก-อ.โคกโพธิ์) ปากทางเชื่อมต่อไปสู่ อ.หาดใหญ่ อ.นาทวี ณ ด่านสะเดา และพื้นที่อื่นๆ 2.พื้นที่ยอดสามเหลี่ยม อ.หนองจิก-อ.เมืองปัตตานี เน้นพัฒนาค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงทางพลังงาน สร้างชุมชนประกอบอาชีพสนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก อาจศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายท่าเรือปัตตานี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อม ตลอดจนการเดินเรือชายฝั่ง

3.พื้นที่ฐานสามเหลี่ยมตะวันตก อ.เบตง จ.ยะลา เน้นพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ การค้าข้ามแดนมาเลเซียสู่เมืองปีนังและเมืองเปรัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับคมนาคมทางบกและทางอากาศ ให้บรรจบกับตัวเมืองยะลาระยะกลาง และขยายการพัฒนาตลอดแนวชายแดนของยะลาในระยะยาว และ4.พื้นที่ฐานสามเหลี่ยมตะวันออก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ชายแดนที่มีการค้าขายแดนและข้ามแดนอยู่แล้ว เน้นพัฒนาการค้าข้ามแดนมาเลเซีย และวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวข้อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงทางพลังงานทางเลือก รองรับการขยายพื้นที่พัฒนาเพื่อบรรจบกับตัวเมืองนราธิวาสระยะกลาง และขยายการพัฒนาตลอดแนวชายแดนของนราธิวาสในระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559