สธ.เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลกระทุ่มแบนรองรับการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ

05 ต.ค. 2559 | 05:15 น.
กระทรวงสาธารณสุข สร้างอาคารผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน 10 ชั้น โรงพยาบาลกระทุ่มแบน ยกระดับคุณภาพบริการด้านการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ

วันนี้ (5 ต.ค.2559) ที่โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน 10 ชั้น โรงพยาบาลกระทุ่มแบนว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20  ปี ด้านสาธารณสุข เพื่อมุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน การพัฒนาอันดับต้นๆ คือการยกระดับคุณภาพบริการด้านการแพทย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีระบบบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ครอบคลุม  ตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ

ในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 299,688,000 บาท ให้โรงพยาบาลกระทุ่มแบน เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน 10 ชั้น ทดแทนอาคารเดิมที่คับแคบแออัด ไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงได้ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วย หอผู้ป่วยสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ แผนกผู้ป่วยนอก แผนกการแพทย์แผนไทย กายภาพบำบัด แผนกทันตกรรม และหน่วยงานสนับสนุน เช่น คลังพัสดุ คลังยาและเวชภัณฑ์ กำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนมีนาคม 2562

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลกระทุ่มแบน ตั้งอยู่ในเขตเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ให้มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงระดับตติยภูมิ มีแพทย์เชี่ยวชาญครบทุกสาขา ดูแลประชาชนในเขตอำเภอกระทุ่มแบนประมาณ 352,192 คนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยสิทธิการรักษาอันดับ 1 คือ ประกันสังคม ร้อยละ 61.76 รองลงมาสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 27.85 ส่วนแรงงานต่างชาติมีสิทธิประกันสุขภาพ 21,277 คน เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 100 ครั้งต่อวัน ผู้ป่วยใน 50 รายต่อวัน

ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 250 เตียง แต่ให้บริการจริง 316 เตียง มีความเชี่ยวชาญการผ่าตัด อาทิ ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ผ่าตัดมะเร็ง เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใกล้เคียง ในปี 2559 ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 1,800 คนต่อวัน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคอันดับ 1 ได้แก่ติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกและหลังเสื่อมผิดรูป โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบและอุจจาระร่วง ตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยใน อัตราการครองเตียง 100 เปอร์เซ็นต์  ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคท้องเสีย ตาต้อกระจก ไข้เลือดออก ปอดอักเสบ เป็นต้น  โดยจำนวนผู้มารับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี