สร้าง2มอเตอร์เวย์ลงใต้ เชื่อมโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกเส้นเพชรเกษม,ธนบุรี-ปากท่อ

06 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
กรมทางหลวงเดินหน้าลุย 2 มอเตอร์เวย์ใหม่ เชื่อมโลจิสติกส์สู่ภาคใต้-ตะวันตก เส้นแรกจากถนนกาญจนาภิเษกยิงยาวถึงวังมะนาว อีกสายบางขุนเทียนลากผ่านบางใหญ่ ไปบางปะอิน พร้อมผุดทางยกระดับปิ่นเกล้า-นครชัยศรี วอนรัฐเร่งเครื่องลงทุน 1.3 แสนล้าน หวังเปิดเส้นทางขนส่งรับท่าเรือทวาย คาดอีไอเอผ่านฉลุยปีหน้าชงคลังเคาะความชัดเจน แหล่งทุน ภาคขนส่งเชียร์สนั่น

[caption id="attachment_103791" align="aligncenter" width="700"] แผนพัฒนามอเตอร์เวย์ที่กรมกทางหลวงเสนอปี 2561 แผนพัฒนามอเตอร์เวย์ที่กรมกทางหลวงเสนอปี 2561[/caption]

ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง(ทล.)อยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน 3 เส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) คือเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด,บางใหญ่-กาญจนบุรี,บางปะอิน-นครราชสีมานั้น แต่เนื่องจากโซนพื้นที่ภาคตะวันตกจากฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานครผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรีและภาคใต้ที่ผ่านจังหวัดเพชรบุรียังขาดการเชื่อมโยง ดังนั้นทล.จึงกำหนดแผนดำเนินการก่อสร้างมอเตอร์เวย์และทางยกระดับเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในโซนดังกล่าวเร่งเสนอรัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการต่อเนื่องกันไป

จ่อผุด 2 มอเตอร์เวย์ใหม่

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเตรียมเสนออีก 2 โครงการมอเตอร์เวย์และ 1 เส้นทางยกระดับให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเร่งผลักดันในปีงบประมาณ 2561 ประกอบไปด้วย 1.โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางขุนเทียน-บางใหญ่-บางปะอินระยะทาง 30 กิโลเมตร และ 2.โครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางตั้งแต่จุดตัดถนนกาญจนาภิเษก-ไปตามถนนหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ)ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4(ถนนเพชรเกษม)ที่แยกวังมะนาว ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และ 3 ส่วนโครงการเส้นทางยกระดับบรมราชชนนี(ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) สายทล.338 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

"ทั้งนี้3โครงการจัดเป็นอีก 3 เส้นทางหลักในการส่งเสริมการค้าการลงทุนโซนกรุงเทพด้านตะวันตก อีกทั้งจะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สายสำคัญที่จะเชื่อมภาคใต้ ผ่านถนนเพชรเกษมและถนนธนบุรี-ปากท่อ โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท"

ตีเส้นเชื่อมใต้-ตะวันตก

อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเร่งผลักดันทั้ง 3 โครงการดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันถนนทางหลวงโซนภาคตะวันตกที่ลงสู่ภาคใต้ มีปริมาณรถใช้เส้นทางหนาแน่น โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงเทศกาลสภาพการจราจรจะติดขัดเป็นเส้นทางยาว เนื่องจากผ่านจุดแยกสำคัญต่างๆจึงมีปริมาณการจราจรสะสม ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการใช้เส้นทางโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าหรือเส้นทางโลจิสติกส์สายหลักสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้จึงเร่งขยายเส้นทางรองรับโดยเร็ว ประการสำคัญยังเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับท่าเรือน้ำลึกทวายที่รัฐบาลไทยและเมียนมาร่วมกันพัฒนาในปัจจุบันนี้ด้วย

สำหรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน พระราม 2 นั้น จะก่อสร้างแนวต่อจากทางด่วนสายพระรามที่ 3-ดาวคะนอง-กาญจนาภิเษกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ไปตามถนนธนบุรี-ปากท่อ สิ้นสุดที่แยกวังมะนาว รูปแบบทางยกระดับเพื่อเลี่ยงจุดแยกจุดตัดทางราบให้สามารถใช้ความเร็วและใช้เส้นทางได้อย่างสะดวก ในส่วนเส้นทางมอเตอร์เวย์ ช่วงบางขุนเทียน-บางใหญ่-บางปะอิน นั้นจะก่อสร้างช่วงแนวเกาะกลางไปตามถนนกาญจนาภิเษก หรือถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี โดยสามารถจะไปต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บางใหญ่ และยังสามารถจะต่อขยายจากจุดบางใหญ่ไปสิ้นสุดที่บางปะอินเพื่อเชื่อมกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ณ ที่จุดดังกล่าวนี้ได้อีกด้วย

เร่งนำเสนอขออนุมัติ

นายธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันทั้ง 3 เส้นทางอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดของทล.และยื่นขอรับรองการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งคาดว่าจะได้แล้วเสร็จในปี 2560 นี้ หลังจากนั้นจะเร่งนำเสนอขออนุมัติโครงการต่อกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเร่งผลักดัน พร้อมกันนั้นจะได้นำเสนอกระทรวงการคลังเคาะความชัดเจนด้านการลงทุนเนื่องจากทั้ง 3 โครงการดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั้งเงินงบประมาณแผ่นดินในปี 2561 หรือจะใช้เงินกู้และการร่วมลงทุน(พีพีพี) กับภาคเอกชนได้ตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าจะมีการเวนคืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจึงไม่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาโครงการ หากได้รับงบประมาณไปดำเนินการจะเริ่มประกวดราคาในต้นปี 2561 เป็นต้นไปโดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างเส้นทางละประมาณ 3 ปี"

ด้านนายสุรชัย ศรีเลณวัตร ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน ทล. กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบเส้นทางในโซนภาคตะวันตกและเส้นทางเชื่อมสู่ภาคใต้ประกอบไปด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 338 สายปิ่นเกล้า-นครชัยศรีและทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 22,300 ล้านบาท 2.โครงการออกแบบรายละเอียดทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35(ธนบุรี-ปากท่อ) ตอน 2(ส่วนที่ 1) ระยะทาง 20 กิโลเมตร ตอน 2 (ส่วนที่ 2) ระยะทาง 21 กิโลเมตร ตอน 3(ส่วนที่ 1 ระยะทาง 10 กิโลเมตร และส่วนที่ 2 ระยะทาง 11.2 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางขุนเทียน-บางใหญ่-บางปะอิน ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 33,361 ล้านบาท(ตามผลการศึกษาปี 2558) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อให้ได้งบประมาณดำเนินโครงการที่ชัดเจนนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

เร่งเซ็นสัญญาเฟส 2 ปลายปีนี้

ด้านนายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน กรมทางหลวง(ทล.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเซ็นสัญญามอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมาว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาทล.จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์)หมายเลข 6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา และ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สาย บางใหญ่ - กาญจนบุรี ระหว่างกรมทางหลวงกับบริษัทคู่สัญญาไปส่วนหนึ่งแล้ว

โดยในครั้งนี้ทล.ได้ลงนามสัญญากับบริษัทคู่สัญญาเพิ่มเติม 24 ตอน แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 จำนวน 17 ตอน รวมวงเงินก่อสร้าง 23,095 ล้านบาท ดังนี้ ช่วงที่ 5 กม.15+000 - กม.27+500 ระยะทางยาวประมาณ 12.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท บัญชากิจ จำกัด ช่วงที่ 8 กม.41+300 - กม.42+497 ระยะทางยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 9 กม.42+497 - กม.43+772 ระยะทางยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

ช่วงที่ 10 กม.43+772 - กม.45+022 ระยะทางยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 11 กม.45+022 - กม.46+274 ระยะทางยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 12 กม.46+274 - กม.47+600 ระยะทางยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 23 กม.102+000 - กม.110+900 ระยะทางยาวประมาณ 8.9 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง ช่วงที่ 24 กม.110+900 - กม.119+000 ระยะทางยาวประมาณ 8.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่วิศวกรรม ช่วงที่ 25 กม.119+000 - กม.126+475 ระยะทางยาวประมาณ 7.4 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท ธาราวัญคอนสตรัคชั่น จำกัด

ช่วงที่ 27 กม.128+095 - กม.129+715 ระยะทางยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ช่วงที่ 28 กม.129+715 - กม.131+335 ระยะทางยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท แสงโชคชัย จำกัด ช่วงที่ 29 กม.131+335 - กม.132+955 ระยะทางยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ช่วงที่ 33 กม.138+690 - กม.140+040 ระยะทางยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท ทิพากร จำกัด ช่วงที่ 34 กม.140+040 - กม.141+810 ระยะทางยาวประมาณ 1.7 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง ช่วงที่ 35 กม.141+810 - กม.144+000 ระยะทางยาวประมาณ 2.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง ช่วงที่ 36 กม.144+000 - กม.154+800 ระยะทางยาวประมาณ 10.8 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท ทิพากร จำกัด ช่วงที่ 39 กม.175+100 - กม.188+800 ระยะทางยาวประมาณ 13.7 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท ยิ่งเจริญก่อสร้างบุรีรัมย์ จำกัด

สร้างเสร็จพร้อมใช้ปี 63

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สาย บางใหญ่ – กาญจนบุรี จำนวน 7 ตอน รวมวงเงินก่อสร้าง 8,884 ล้านบาท ดังนี้คือ ช่วงที่ 14 กม.46+000 - กม.50+000 ระยะทางยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดนภาก่อสร้าง ช่วงที่ 20 กม.77+000 - กม.80+000 ระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด นภาก่อสร้าง ช่วงที่ 21 กม.80+000 - กม.87+000 ระยะทางยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด ช่วงที่ 22 กม.87+000 - กม.92+000 ระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท เอส.เค.วาย.คอนสตรัคชั่น จำกัด ช่วงที่ 23 กม.92+000 - กม.96+410 ระยะทางยาวประมาณ 4.4 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท พีระมิดคอนกรีต จำกัด ช่วงที่ 24 กม.1+119 - กม.5+000 และ กม.1+225 - กม.5+000 ระยะทางยาวประมาณ 3.8 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 25 กม.5+000 - กม.9+856 ระยะทางยาวประมาณ 4.8 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท ชัยนันท์ค้าวัตถุก่อสร้าง (2524) จำกัด

"โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 แบ่งสัญญาออกเป็น 40 ตอนโดย 25 ตอนสามารถเร่งดำเนินการในเฟสแรกนี้แต่สามารถเซ็นสัญญาได้ก่อนแล้ว 21 ตอนโดยตอนที่เหลืออีก 4 ตอนของเส้นทางหมายเลข 6 นี้ซึ่งจะใช้งบกลางไปดำเนินการนั้นจะเร่งให้เซ็นสัญญาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 แบ่งสัญญาออกเป็น 25 ตอน เลือกเอา 9 ตอนมาเซ็นสัญญาในเฟสแรกนี้ ส่วนที่เหลือจัดเป็นเฟสที่ 2 ซึ่งใช้งบปี 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกประกวดราคาหาผู้รับจ้าง เพื่อให้ทันเซ็นสัญญาในเดือนพฤศจิกายนนี้" นายกมล กล่าวและว่า

ทั้งนี้ ทล.ได้ดำเนินการลงนามสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 - 2560 และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศ รวมทั้งทำให้ผู้รับจ้างสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันทีตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป โดยทั้ง2โครงการคาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในปี2563

ภาคขนส่งเด้งรับมอเตอร์เวย์ใหม่

นายสัญญวิทย์ เศรษฐโภคิน นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า การพัฒนามอเตอร์เวย์เพิ่มอีก 2 เส้นทางและ 1 ทางยกระดับนั้นเห็นด้วยกับเส้นทางจุดตัดถนนกาญจนภิเษก ไปตามถนนธนบุรี-ปากท่อ แล้วไปบรรจบกับถนนเพชรเกษมที่แยกวังมะนาว เพราะการขนส่งสินค้าไปภาคใต้มีความจำเป็น และต้องเร่งรัดให้เส้นนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากเวลานี้เส้นพระราม2 รองรับไม่ไหวแล้ว ถ้ามีเส้นทางมอเตอร์เวย์เส้นใหม่ มั่นใจว่าจะช่วยลดเวลาในการขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น อีกทั้งช่วยในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่รถระยะยาว รวมถึง ส่งมอบสินค้าปลายทางได้เร็วขึ้น

"เวลานี้รถบรรทุกสินค้าจากกทม.ไปหาดใหญ่ใช้เวลาราว 18-20 ชั่วโมง ถ้าเส้นทางดังกล่าวเสร็จก็จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางได้2-3ชั่วโมง"

ด้านนายบุ่นเอี้ยน ศรีแสนสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทรัพย์ขนส่ง จำกัด กล่าวเห็นด้วยกับมอเตอร์เวยจ์เส้นถนนธนบุรี-ปากท่อ แล้วไปบรรจบกับถนนเพชรเกษมที่แยกวังมะนาว เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทางรถบรรทุก18 ล้อ ในเส้นทางกทม.และปริมาณมณฑลในรัศมี 200 กิโลเมตร กินพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีด้วยทำให้การขนส่งสะดวก รวดเร็วขึ้น มีความปลอดภัยและจะช่วยแก้ไขปัญหารถติดบนถนนพระราม 2ได้มาก โดยปัจจุบันบริษัทจะให้บริการขนส่งสินค้าประเภทอุปโภค-บริโภค มีทั้งแป้งมัน ขวดแก้ว ขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังโกดัง และจากโรงงานไปยังท่าเรือ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559