‘ROHM’เดินแผนปีหน้า อัดงบ3พันล้านตอกยํ้าไทยแหล่งผลิตสำคัญ

09 ต.ค. 2559 | 08:00 น.
ปี 2560 บริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือROHM จะมีอายุครบ 30 ปีเต็มที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย(ก่อตั้งปี 2530) โดยปัจจุบันไทยถือเป็นแหล่งผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ ROHM ในแง่ปริมาณผลิต เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เกาหลี และมาเลเซีย ทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง เช่น ไอซี ไดโอด รีซิสเตอร์ ทรานซิสเตอร์ สำหรับป้อนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปีมีการพัฒนาคนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนสามารถยกระดับให้ฐานการผลิตในไทยมีความทันสมัยโดยใช้ระบบออโตเมชันควบคู่กับคน ซึ่งมีพนักงานรวมราว 3,800 คนในปัจจุบัน

จากการเคลื่อนไหวเหล่านี้ “ฮิโรชิ มินามิ” ประธาน บริษัทโรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสาเหตุที่บริษัทโรม คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทแม่ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยมาอย่างเหนียวแน่น รวมถึงการเตรียมแผนธุรกิจในปี 2560 และข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในการลดอุปสรรคด้านการผลิตไว้อย่างน่าสนใจ

ประธานบริษัท ROHM กล่าวว่าตลอดเกือบ 30 ปีมานี้ บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องโดยระบบผลิตถูกพัฒนามาเป็นระบบออโตเมชัน ส่วน “คน”มีหน้าที่ป้อนชิ้นงาน ตรวจสอบคุณภาพสินค้า อีกทั้งมีการพัฒนาคนด้านเอนจิเนียร์ (engineer) หรือวิศวกรจำนวนมากทำให้วันนี้ ROHM มีคนที่ได้รับการฝึกอบรม พัฒนาขีดความสามารถ จนสะสมประสบการณ์มานานนับปีจำนวนมากถือว่าเรามีทรัพยากรบุคคล มีทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ที่นี่พร้อมแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น

อัด 3 พันล้านพัฒนาโปรดักต์เพิ่มมูลค่า

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2560 นั้น ขณะนี้เริ่มเดินแผนขยายกำลังผลิต ไอซี ไดโอด รีซิสเตอร์ ทรานซิสเตอร์และพัฒนาโปรดักต์ใหม่แล้ว โดยใช้เงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท โดยการลงทุนครั้งนี้อาจจะไม่เพิ่มมากในเชิงปริมาณแต่จะมีมูลค่าสินค้าสูงขึ้น จากที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ้นราว 7,000 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่วนโปรดักต์ใหม่จะนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ โดยตั้งเป้าหมายว่าปีหน้าจะเพิ่มยอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องจักรสำหรับใช้ในโรงงาน และเป็นโรงงานที่เน้นระบบออโตเมชันมากขึ้น เหล่านี้จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ลงทุนมากขึ้นในปีหน้า และจะเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดผลกำไรได้ง่าย

สาเหตุที่โฟกัสไปที่การผลิตสินค้าที่ป้อนตลาดรถยนต์นั้น เพราะมองว่าตลาดกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี รถยนต์ 4-5 ปีเปลี่ยนรุ่นที และขณะนี้รถยนต์ก็มีเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถไฮบริด รถไฟฟ้า ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีวัตถุดิบป้อนรถยนต์ในอนาคต ที่มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีอุปกรณ์ที่เราผลิตเข้าไปเสริมได้มากขึ้น เพราะจากนี้ไปรถยนต์ที่ผลิตออกมาจะมีฟังก์ชันในการช่วยเหลือคนขับ และเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น

ที่ 3 ของโลกด้านทรานซิสเตอร์-ไดโอด

ฮิโรชิ มินามิ กล่าวอีกว่า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตัวท็อปสำหรับประเทศไทยคือ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ถือเป็นผู้นำตลาดในอันดับ 3 ของโลก และเทคโนโลยีไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตามตลาดมากนัก สามารถเข้าไปใช้ได้ในทุกเจเนอเรชัน และจากการพัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัยขึ้นนั้นเป็นการตอบโจทย์อินดัสตรี 4.0ได้ โดย ROHM มีข้อได้เปรียบตรงที่มีวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น แท่งโลหะ(Ingot) มีกระบวนการในการสร้างวงจรรวมบนแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ไปถึงกระบวนการผลิตที่ครบวงจร โดยฐานการผลิตแม่ที่ญี่ปุ่นจะเน้นงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และการปรับปรุงเทคโนโลยีและเครื่องจักร โดยเฉพาะโรงงานผลิต Wafer Fabrication ที่มีถึง 5 แห่งในญี่ปุ่น เพื่อป้อนไปยังฐานการผลิตต่างๆในกลุ่ม ROHM ที่เชื่อมโยงกัน จึงมีข้อได้เปรียบในการตอบรับจากลูกค้า รวมถึงการวางแผนส่งมอบ

อย่างไรก็ตามผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไทยทั้งหมดนี้ สัดส่วน 10% จะผลิตป้อนตลาดภายในประเทศไทย และ 90% ส่งออกไปทั่วโลก โดยผ่านบริษัทแม่ซึ่งมีบริษัทขายกระจายอยู่ทั่วโลกถึง 52 บริษัท

ยอดขายปีนี้ขยายตัวมากกว่า 10%

ประธานบริษัท ROHM กล่าวถึงยอดขายปี2559 ที่จะปิดงบเดือนมีนาคมปี 2560 นี้ว่าจะมียอดขายประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่ต้องขึ้นอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นด้วย โดยในครึ่งปีหลังนี้จะมีสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาช่วยด้วย หากทำได้ตามนี้ เท่ากับว่าปี 2559 มียอดขายเพิ่มขึ้นมามากกว่า 10% เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าปี 2560 น่าจะมียอดขายแตะที่ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายรวมของบริษัทโรม คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นมีทั้งสิ้นราว 1.2 แสนล้านบาท

น้ำท่วมฟื้นตัวเร็วเพราะความร่วมมือ

ต่อคำถามที่ว่าผ่านช่วงวิกฤตินํ้าท่วมมาได้ในเวลาที่รวดเร็วนั้น ประธานบริษัท ROHM กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของบริษัทที่ได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือที่ดีมาก จากพนักงานบริษัทที่เสียสละทั้งที่บ้านของตัวเองก็ถูกน้ำท่วมแต่ก็มาช่วยฟื้นฟูบริษัทก่อน ขณะที่ภาครัฐและสวนอุตสาหกรรมนวนครก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ในแง่บริษัทเองก็พยายามทำการผลิตจนนาทีสุดท้ายเพื่อไม่ให้กระทบต่อลูกค้า ถือว่าการส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าในขณะนั้นชะงักไปแค่ช่วงเวลาเดียว และในทางกลับกัน พอแก้ปัญหานํ้าท่วมได้แล้ว ลูกค้าก็กลับมาสั่งออร์เดอร์จากเรามากขึ้นกว่าเดิม ถามว่าตอนนี้กลัวนํ้าท่วมอีกหรือไม่ ยืนยันว่าไม่กลัว มั่นใจว่าสวนอุตสาหกรรมนวนครเองก็วางแผนป้องกันไว้เป็นอย่างดีอีกชั้นหนึ่งด้วย เรียกว่ามีการก่อกำแพงกั้นนํ้าถึง 2 ชั้น

ฝากรัฐบาลไทย 3 เรื่องใหญ่

สุดท้ายประธานบริษัท ROHM ฝากถึงรัฐบาลไว้ 3 เรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตที่อาจสะดุดลงได้คือ 1. ปัญหาการเมืองในประเทศที่จะต้องรักษาความสงบไว้ให้ดี 2.ระบบไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตถ้าไม่มีต่อเนื่องก็จะกระทบได้ โดยเฉพาะการเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ ทำให้การเดินเครื่องจักรสะดุดลง หยุดชะงักบ่อย ภาครัฐจะต้องมาดูเรื่องความเสถียรระบบไฟฟ้า เพราะเวลานี้ฝนตกหนักทีไรจะเจอปัญหาไฟดับทุกที นับว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการผลิตมาก 3.ปัญหาน้ำท่วม น้ำขาดไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะในส่วนนี้ มองว่าเป็นปัญหาที่ป้องกันได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559