กระทรวงเกษตรฯแนะวิธีฟื้นฟูพื้นที่เกษตรหลังน้ำท่วม

04 ต.ค. 2559 | 08:00 น.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะวิธีฟื้นฟู - พัฒนาพื้นที่เกษตรหลังน้ำท่วม ให้เกษตรกรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลับคืนความอุดมสมบูรณ์โดยเร็วด้วยตนเอง

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลายพื้นที่ต่างประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างกะทันหัน ทำให้เกษตรกร และประชาชนได้รับความเดือดร้อน บางพื้นที่เกษตรกรไม่ทันเตรียมตัวรับมือส่งผลให้พื้นที่การเกษตรมีมูลค่าความเสียหายนับไม่ถ้วน ถึงแม้ว่าขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  เกษตรกรต่างก็เร่งทำการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และปรับสภาพจิตใจให้กลับเป็นเหมือนเดิม เช่นเดียวกันพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ขาดรายได้มาใช้ในการดำรงชีพก็ต้องทำการฟื้นฟูพัฒนาให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือ โดยการสำรวจและประเมินพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายและเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่าง ๆ ทำการสำรวจและประเมินพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเร่งให้ความช่วยเหลือโดยด่วนแก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม เนื่องจาก ผิวหน้าดินจะถูกชะล้างไปกับน้ำและมีตะกอนดินขนาดเล็กที่ถูกพัดพามากับน้ำ ตกทับถมบริเวณผิวดิน และอุดตามช่องว่างในดิน ทำให้ดินมีปัญหาการระบายน้ำและอากาศ ซึ่งหากน้ำท่วมขังเหม็นเน่า เบื้องต้นขอแนะนำให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๖ เป็นส่วนผสมหลักเนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่ค่อย ๆ ซึมไปบนผิวดิน มีประโยชน์ในการช่วยย่อยสลายเศษซากวัสดุอินทรียวัตถุต่าง ๆ จากนั้นเมื่อน้ำลดลงแล้วซึ่งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นาข้าวพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ต้องทำการปรับสภาพพื้นที่ที่มีเศษซากต่าง ๆ ออกจากพื้นที่เพาะปลูก แล้วทำการปรับปรุงพื้นฟูดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1– 12 ใช้ปุ๋ยพืชสด ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมต์ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพต่าง ๆ

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อมาคือปรับปรุงสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินให้มีความเหมาะสมเพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มีปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่ดี สามารถเพาะปลูกรอบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนวิธีการที่จะป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงจากภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรให้มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่จัดทำคันคูรับน้ำรอบขอบเขตพื้นที่การเกษตร ทำทางลำเลียงในไร่นาร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่มีประโยชน์ในการช่วยรักษาความชื้นในดิน ช่วยยึดหน้าดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน และช่วยดูดซับสารปนเปื้อนบริเวณแหล่งน้ำ

นอกจากนี้เกษตรกรควรทำร่องดักตะกอนดินเพื่อชะลอความเร็วของน้ำรวมถึงกำหนดมาตรการการใช้ที่ดินให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพดินไม่ให้ถูกทำลาย อีกทั้งเกษตรกรควรปลูกไม้เศรษฐกิจยืนต้นโตเร็วและโตช้าในพื้นที่ของตนเอง พร้อมช่วยกันปลูกต้นไม้ที่มีระบบรากแก้วโตเร็วและโตช้าในเขตพื้นที่ป่า เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและประชาชนจำนวนมากปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนยังขาดความรู้ด้านฟื้นฟูหน้าดินหลังน้ำท่วม หรือจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการใช้ดินและที่ดินอย่างประมาท ขาดความระมัดระวัง ทั้งการใช้สารเคมี ทำให้ดินเสื่อมโทรมไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างคุ้มค่า

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า สำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป สามารถขอคำแนะนำด้านต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน การจัดการดินและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับดิน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากดินและที่ดิน ในการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเกษตรกรได้รับความรู้สามารถกลับไปพัฒนาพื้นที่ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ดีดังเดิม หรือหมั่นคอยดูแลรักษาดินหึคงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไปได้ด้วยตนเอง เกษตรกรที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1– 12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน