เปิดพิมพ์เขียวกลไกปฏิรูปประเทศ ชงตั้งคกก.กลางฯรับไม้สปช.-สปท.

10 ต.ค. 2559 | 01:00 น.
รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบ และรอกระบวนการเพื่อประกาศใช้ที่คาดว่าจะมีผลในปลายปีนี้ ในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ บัญญัติให้มีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศขึ้น ภายใน 120 วันหลังประกาศใช้ เพื่อจัดวางกลไกการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าต่อเนื่อง

[caption id="attachment_104149" align="aligncenter" width="700"] ร่างความเชื่อมโยงรัฐสภา วุฒิสภา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ร่างความเชื่อมโยงรัฐสภา วุฒิสภา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม[/caption]

เพื่อเตรียมการรองรับกรณีดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยมีพ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นประธาน มีที่ปรึกษาประกอบด้วย พ.อ.วินัย สมพงษ์ นายวิรัช ชินวินิจกุล นายชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 37คน เพื่อเร่งพิจารณาศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง ข้อเสนอแนะ ในการกำหนดประเด็นและกลไกการปฏิรูปประเทศ

คณะกรรมการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายฯ ได้สรุปรายงานการศึกษาขนาดความหนา 310 หน้า เรื่อง การกำหนดประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการการปฏิรูป ซึ่งประธาน สปท.บรรจุเป็น 1 ในวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ในการประชุมสปท.ครั้งที่ 51/2559 เมื่อวันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาแล้ว

โดยได้ชี้แจงว่า ในการศึกษาได้ยึดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในรธน. ทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติ รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยพยายามเสนอแนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่จำเป็น เพื่อจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยที่ม.266 วรรคสองของรธน.ที่ผ่านประชามติ กำหนดให้หัวหน้าคสช.มีอำนาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือวิธีทำงานของสปท.ได้ จึงได้เสนอประเด็นการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแม้จะเกิน 5 ปี ทั้งนี้ คณะกรรมการมิได้ร่างเป็นกฎหมาย เพราะรัฐบาลมอบหมายให้สำนักนายกฯและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ไปดำเนินการแล้ว

เนื่องจากการปฏิรูปประเทศต้องทำต่อเนื่อง และใช้เวลานับสิบปีจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน จึงเสนอให้มี"องค์กรกลางการปฏิรูปประเทศ" เพื่อจะเป็นจุดศูนย์กลาง(Focal Point) ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะกรอบของแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยอาจใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่รธน.ให้อำนาจการสั่งปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือวิธีการทำงานของสปท. หรืออาจรอให้มีพ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่จะกำหนดโครงสร้างและที่มาของ"องค์กรกลางการปฏิรูปประเทศ" โดยให้มีคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนฯดังกล่าว

พ.อ.วินัย สมพงษ์ ชี้แจงตอนหนึ่งในที่ประชุมสปท.ว่า องค์กรกลางการปฏิรูปประเทศนี้ จะมี 2 ส่วนคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีนายกฯเป็นประธาน องค์ประกอบของคณะกรรมการ จะมีรองนายกฯหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมายจำนวนหนึ่ง มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับจำนวนรองนายกฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จำนวนยังไม่กำหนด ขอฟังข้อเสนอแนะจากที่ประชุม

ถัดจากนั้นมีคณะกรรมการด้านต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จำนวนคณะละ 1 คน มาทำหน้าที่เป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เอกชน เข้าร่วมด้วย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูป โดยประเด็นใดที่มีความเห็นพ้องร่วมกันให้หยิบมาทำก่อน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์

ส่วนสำนักงานเลขาฯของคณะกรรมการกลางฯยังมีความเห็นเป็น 2 ทางเลือก คือ ตั้งสำนักงานเลขาฯของคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ขึ้นมาใหม่เลย หรือมอบหมายหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียง เช่น สศช. ให้มาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาฯให้ ซึ่งแต่ละทางเลือกมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันอยู่ รวมทั้งมีแนวคิดว่า เพื่อให้งานปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีอีกแนวคิดว่า ให้มีสำนักงานเลขาฯเดียวสำหรับทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังต้องรอฟังความคิดเห็นจากสปท.เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559