กพน.สานพลัง ส.อ.ท. แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำนำร่อง 14 จังหวัดภาคกลาง

03 ต.ค. 2559 | 07:10 น.
สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดงานสัมมนาเปิดโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ในวันนี้(3 ตุลาคม 2559) ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 (GH 203) ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) มาเป็นประธานในพิธีเปิด มุ่งเป้าสร้างแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เริ่มนำร่องในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคกลาง

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเด็นปัญหาน้ำ ทั้งวิกฤตภัยแล้ง และอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ยังคงเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ  ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน อันสืบเนื่องมาจากการขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน แหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ และแหล่งระบายน้ำถูกบุกรุกและขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้ไม่สามารถเก็บกัก ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมามีการเน้นในเรื่องการจัดหาและพัฒนาเพื่อสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก โดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การนำน้ำขึ้นมาใช้เกินศักยภาพของทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ การใช้พื้นที่ชุ่มน้ำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และระบบนิเวศ รวมถึงการขาดการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ด้วยปัญหาดังกล่าว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อการใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาและบริหารจัดการโดยผ่านกลไกต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการจัดให้มีระบบคลังเครื่องมือเพื่องานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558 – 2569) และมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวไปปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล หรือ กพน. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ในการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ในการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์น้ำบาดาลฯ ในการพัฒนาและยกระดับการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล  การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งการควบคุม กำกับ ดูแล ทรัพยากรน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำ นโยบายและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ การวิเคราะห์ศักยภาพแหล่งน้ำ ปัญหาและความต้องการการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง เพื่อประกอบการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 14 จังหวัด

โดยผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ คือ สามารถทำให้ทราบสถานการณ์และข้อมูลการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ และได้แนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

“การดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมกราคม 2561 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 18 เดือน โดยมีขอบเขตการดำเนินโครงการ คือ ศึกษา รวบรวมข้อมูล ทบทวนรายงานการศึกษา วิจัยยุทธศาสตร์ การพัฒนา  แผนนโยบายที่เกี่ยวข้องของพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัด จัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาล โดยนำหลักการ 3 Rs (Reduce, Reuse , Recycle) มาร่วมประยุกต์ใช้ รวมถึงประชาสัมพันธ์และนำเสนอผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ” นายสุวัฒน์ กล่าว