‘พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา’ ซีอีโอ เอ็กซิมแบงก์ ตั้งเป้ายกระดับสู่ Export Credit Agency!

05 ต.ค. 2559 | 08:30 น.
“ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์” 1ใน 6 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งดำเนินนโยบายเพื่อตอบโจทย์ตามพันธกิจ เป็นธนาคารที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายใต้การกำกับดูแลของ “นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งได้สะท้อนมุมมองในระยะข้างหน้าทั้ง ภาพรวมตลาดส่งออกไทยและสานต่อวิสัยทัศน์ เป็นหนึ่งในใจของผู้ประกอบการค้าการลงทุนและเป็นExport Credit Agencyชั้นนำในภูมิภาค

 ส่งออกไทยยังฟื้นตัวเปราะบาง

ซีอีโอ “พิศิษฐ์” สะท้อนภาพของสถานการณ์ส่งออกของไทยในระยะถัดไปว่า แนวโน้มยังฟื้นตัวเปราะบาง เห็นได้จากมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 หดตัว 1.2% ขณะที่ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิ ปัจจัยบั่นทอนการส่งออกของไทยคือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังเปราะบาง ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกไปตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงไม่สดใส เห็นได้จากมูลค่าส่งออกช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จีน -7.4% โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี จากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

ญี่ปุ่น -1.1% ทั้งนี้มูลค่าส่งออกไปยัง 3 ตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 30% ของมูลค่าส่งออกรวม อีกทั้งราคาสินค้านํ้ามันและสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับตํ่าและมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs)

 ชี้ 3 ปัจจัยหนุน”

จากปัจจัยบั่นทอนต่างๆข้างต้น ทำให้หลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจออกมาประเมินว่า มูลค่าส่งออกทั้งปี2559 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ขณะที่ล่าสุด “นายพิศิษฐ์”ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจหลักของไทยแห่งแรก ที่จัดทำคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2560 โดยคาดการณ์ไว้ที่ -0.5% ซึ่งจะทำให้มูลค่าส่งออกไทยหดตัวเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน และคาดการณ์มูลค่าส่งออกปีนี้ไว้ที่ -2.5% อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการส่งออกของไทยยังมีความหวังอยู่บ้าง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียวที่ยังขยายตัวได้ และล่าสุดมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัว 1% สวนทางกับตลาดหลักอื่นที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

2.การเติบโตอย่างรวดเร็วของ CLMV มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ยังขยายตัวร้อนแรงต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.5% ต่อปี สวนทางกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 3 ปีติดต่อกัน ทำให้ CLMV ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่ช่วยพยุง การส่งออกของไทยไม่ให้ตกต่ำมากจนเกินไป

3.การเบนเข็มทิศสู่ตลาดใหม่ (New Frontiers) สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ส่งออกไทย แม้ปัจจุบัน มูลค่าส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม New Frontiers จะยังไม่มากนัก แต่จากการที่ภาครัฐกำลังเร่งเปิดความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่ยังมีอยู่อีกมาก ทำให้คาดว่าตลาด New Frontiers น่าจะก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะช่วยชดเชยการซบเซาของตลาดหลักได้ในระดับหนึ่ง

 ย้ำผู้ส่งออกสามารถป้องกันเสี่ยงได้เอง

ต่อข้อถามถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนั้น “นายพิศิษฐ์”สะท้อนผลบวกหรือผลลบต่อผู้ส่งออกไทยว่า แม้ตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นราว 4% แต่พบว่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินคู่แข่งอื่นในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย (แข็งค่าขึ้นกว่า 7%) เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย (แข็งค่าขึ้นราว 5%) นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าปี 2556-2558 แม้เงินบาทจะอ่อนค่าราว 22% ซึ่งอ่อนค่ากว่าสกุลเงินคู่แข่งทุกสกุล แต่การส่งออกไทยในช่วงดังกล่าวกลับหดตัว 3 ปีติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีผลต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้น โดย ธสน. มีเครื่องมือและบริการทางการเงินที่จะสามารถช่วยผู้ส่งออกในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ Forward Contract นอกจากนี้ ผู้ส่งออกอาจป้องกันความเสี่ยงได้เอง (Natural Hedge) โดยการเปิดบัญชีสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) และการ Matching เงินได้กับค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสกุลเดียวกัน เป็นต้น

 ยกระดับหนึ่งในใจผู้ประกอบการค้า/ลงทุน

ปีนี้ ธสน.ย่างเข้าสู่ปีที่ 23 ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่ปรับเปลี่ยน ธสน.จึงเน้นบทบาทเป็นตัวกลางสนับสนุนการค้าการลงทุนมากขึ้น นอกจากการค้าปกติแล้วจะมีการย้ายฐาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งสิ้นปีนี้ทางที่ปรึกษาคือ บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ฯ(BCG)จะสรุปผลศึกษารูปแบบที่จะดำเนินการ ในหลักการคือ ธสน.จะทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ทำหรือสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มั่นใจ เช่น บางประเทศมีความเสี่ยงทางการเมืองหรือกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย/นอกเหนือจากเหตุการณ์ทางการค้าปกติ เหล่านี้ธสน.จะเข้าไปช่วยรับประกันความเสี่ยง

“โจทย์ที่ให้ทาง BCG ศึกษาคือ โมเดลของญี่ปุ่น “เจบิก” ที่เน้นการลงทุนเป็นหลัก กับ โมเดล “เกาหลี” ซึ่งสนับสนุนการลงทุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านระบบประกันการชำระเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมอยู่ในแผนที่จะเสนอเพิ่มยอดการค้าการลงทุน ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศ New Frontier ซึ่งเป็นเป้าประสงค์เพิ่มเติมจากนโยบายหลักในการสนับสนุนผู้ส่งออกไทยไป CLMV และโมเดล “แคนาดา”ก็เป็นอีกรูปแบบที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดย 2 โมเดลข้างต้นนั้นต้องให้ภาครัฐอัดฉีดเงินค่อนข้างมาก ส่วนโมเดลแคนาดาไม่ต้องขอเงินจากรัฐมากนัก แต่ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากทีเดียว ซึ่งภายในสิ้นปีผลศึกษาสรุปรูปแบบเป็นไปได้ออกมา คาดว่าปีหน้าทั้งปีเราจะปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อไปสู่Mission และเป็นหนึ่งในใจของผู้ประกอบการค้าการลงทุนซึ่งจะมีการเพิ่มคนอีกสัก 40-50%”

 4ปีทรัพย์สินเพิ่ม1.4แสนล้าน

ทั้งนี้ ซีอีโอ “พิศิษฐ์”เล่าให้ฟังถึงวิสัยทัศน์ภายใต้การบริหารจัดการธสน. 4ปีว่า เดิมท่านรองนายกรัฐมนตรี ( ศาสตราภิชาน ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์)ต้องการให้เพิ่มทรัพย์สินของธสน.เป็น 1 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินอยู่ที่ 7หมื่นล้านบาท ส่วนตัวจึงมองว่าน่าจะเพิ่มได้อีกเท่าตัวคือเป็น 1.4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง (2560-2563) ขณะที่วิสัยทัศน์แต่ละด้านภายใต้การบริหารจัดการ ธสน.ครอบคลุมถึงการเป็น ECA (Export Credit Agency) ชั้นนำในภูมิภาค หรือเป็นสถาบันการเงินลำดับต้นๆ ที่ผู้ประกอบการไทยนึกถึง เมื่อต้องทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และเป็นผู้นำผลักดันผู้ประกอบการไทยบุกเบิกสู่กลุ่มประเทศใหม่ๆหรือNew Frontier รวมทั้งให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร (Total Solution Provider) ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและยกระดับประเทศสู่ Value-Based Economy เป็นต้น

 ตั้งเป้าปี60กินแชร์ 10% ของผู้ส่งออกทั้งระบบ

ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยทั้งระบบมีจำนวนราว 3.6 หมื่นราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีราว 2.5 หมื่นราย และผู้ประกอบการรายใหญ่ราว 2,700 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ส่งออกที่ไม่สามารถระบุขนาดได้กว่า 8,000 ราย อาทิ ผู้ส่งออกรายบุคคล หน่วยงานราชการ องค์กรระหว่างประเทศ NGO เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของ ธสน. มีจำนวนราว 1,200 ราย ซึ่งทาง ธสน. ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าให้แตะระดับ 10% ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งระบบภายในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559