ชี้ช่องธุรกิจบันเทิงจีน สร้างคอนเทนต์โดนใจเจาะตลาดไทย

04 ต.ค. 2559 | 06:45 น.
กลายเป็นอีกหนึ่งขั้วมหาอำนาจของโลกที่กำลังมาแรงในขณะนี้ สำหรับชื่อของพี่ใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียอย่าง "สาธารณะรัฐประชาชนจีน" ที่เริ่มแทรกซึมและเข้าไปมีบทบาทในหลายประเทศ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การลงทุน วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่หลายฝ่ายพยายามสนับสุนนและผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของจีน (จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตละครโทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่งของโลก) โดยเฉพาะในตลาดเมืองไทยที่เคยมีความพยายามในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์จากจีนเข้ามาทำตลาด เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ประสบความเท่าที่ควรในระยะยาวเนื่องมาจากข้อจำกัดหลายอย่าง ส่งผลให้ในช่วงเวลาต่อมากลุ่มธุรกิจบันเทิงจากญี่ปุ่น และเกาหลี เข้ามาแทนที่ในที่สุด

จึงมีคำถามว่า เมื่อไหร่อุตสาหกรรมบันเทิงจีนจะแจ้งเกิดในตลาดไทย ล่าสุดสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้หยิบประเด็นนี้มาขึ้นบนโต๊ะสัมมนาร่วมกับหลายฝ่าย ภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจบันเทิงจีน โอกาสเจาะใจตลาดเมืองไทย" เพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นโอกาส โดยเชื่อว่าการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการแลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างไทย-จีนในอนาคตอย่างตรงจุด

  PPTV แนะสร้างคอนเทนต์ตรงใจคนดู

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี (PPTV) เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถือเป็นรายแรกในการนำซีรีส์ ละคร จากฝั่งจีนและฮ่องกงเข้ามาทำตลาดในไทยภายใต้การร่วมมือกับทาง ทีวีบีฯ และประสบความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ทว่ากว่า 70% ของซีรีส์ที่นำเข้ามาทำตลาดกลับมาจากฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ซีรีส์ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่จริงๆนั้น เป็นเพียงซีรีส์ที่สื่อถึงจีนยุคโบราณเก่าแก่ ซีรีส์ละครเกี่ยวกับจอมยุทธ์ หนังกำลังภายใน ส่งผลให้ภาพจำของคนดูชาวไทยเกี่ยวกับซีรีส์ที่มาจากจีนกลายเป็นภาพลักษณ์โบราณมากกว่าความเป็นจีนสมัยใหม่ จึงไม่สามารถสร้างตลาดและฐานผู้ชมในระยะยาวได้ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมบันเทิงจากภูมิภาคเดียวกันอย่าง เกาหลี ที่เข้ามาแทนที่ในยุคหลัง

ปัจจัยหลักๆหนึ่งที่อุตสาหกรรมบันเทิงจากจีนไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทยคือเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ (การซื้อขายซีรีส์แต่ละเรื่อง) จากจีนมีราคาแพงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 500 ดอลลาสหรัฐฯต่อเรื่อง เพิ่มเป็น 1 หมื่นดอลลาสหรัฐฯต่อเรื่อง ประกอบกับจีนยังขาดดารา-นักร้องที่เป็นไอดอล อย่างประเทศเกาหลี ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความสนใจในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มาจากจีน และหันไปสนใจเกาหลีที่มีไอดอลและการโปรโมตที่ตรงจุดมากกว่า

นอกจากนี้ภารรัฐของจีนยังขาดในการส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของแบรนด์แวลู (การสร้างมูลค่าของแบรนด์) ในตลาดทั้งในเรื่องของคอนเซ็ปต์ ที่ชัดเพื่อให้คนดูเกิดความสนใจ ซึ่งมูลค่าของแบรนด์นับเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดโลก

อีกประการสำคัญซีรีส์จากจีนยังมีข้อจำกัดในเรื่องของภาษาที่ยังสื่อสารไม่ชัดเจนและขาดความเข้าใจสำหรับคนไทย และสุดท้ายกับรูปแบบการนำเสนอ (Presentation) ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนยังขาดการนำเสนอที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ขณะที่ในส่วนของยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเกาหลี มีการร่วมมือกันเพื่อสร้างการเติบโตอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในส่วนของโปรดักชัน กองเซ็นเซอร์เพื่อการส่งออกที่มีทิมงาน 200-300 คน เซ็นเซอร์ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ คอนเสิร์ต เพื่อการส่งออก 2,000-3,000 เรื่องต่อปี

นายเขมทัตต์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มคอนเทนต์ที่คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบมากที่สุด คือกลุ่มรายการเพื่อความสนุก บันเทิง และดราม่า ซึ่งสวนทางกับกลุ่มคนดูชาวจีนที่ส่วนใหญ่นิยมดูภาพยนตร์มาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือกีฬา เกมโชว์สารดดี และข่าวตามลำดับ ขณะที่ในประเทศอื่นๆอย่างเมียนมานั้นคนดูชื่นชอบคอนเทนต์เกี่ยวกับตลกและแอกชันมากกว่า ซึ่งจากพฤติกรรมที่ต่างกันของแต่ละประเทศมองว่าจะต้องมีการผลิตคอนเทนต์ให้ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศให้มากที่สุด

 ยก "เกาหลี"สู่แนวคิดอุตฯบันเทิงครบวงจร

นอกจากนี้ยังมองว่าแนวทางแก้ไขที่สำคัญเพื่อให้อุตสาหกรรมบันเทิงจากจีนสามารถเติบโตได้ในเมืองไทย จำเป็นต้องมีการแก้ไขส่งเสริมในด้านต่างๆดังนี้ 1.การทำรีเสิร์ช เพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มคนดู การเติบโต ในการสร้างตลาดให้ตรงจุด 2.การควบเรื่องราราค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่สูงจนเกินไป 3.การเข้ามาส่งเสริมของภาครัฐในการสนับสนุนการลงทุน การผลิต

สำหรับมูลค่าตลาดรวมอุตสาหกรรมบันเทิงจากจีนในเมืองไทยนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บสถิติอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมบันเทิงในไทยมีอยู่กว่า 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะเม็ดเงินค่าโฆษณาอย่างเดียว 1 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากธุรกิจละคร ซีรีส์ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าจากธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิงจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีราว 500 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนเฉพาะซีรีส์หรือละครจากจีนนับว่าน้อยมาก

โดยช่องละครทีวีในประเทศมีเพียง4-5 รายเท่านั้น ที่มีคอนเทนต์รายการจากประเทศจีนทำตลาดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทรู 4 ยู หรือช่องโมโน ช่องไทยรัฐทีวี และพีพีทีวีเป็นต้น โดยในส่วนของพีพีทีวีเอง มีซีรีส์และเกมโชว์ที่รอออกอากาศจากประเทศจีนอยู่ราว 4-5คอนเทนต์ ขณะที่สัดส่วนคอนเทนต์หลักของพีพีทีวีจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอกีฬา 30% ข่าว 30% และบันเทิงสารคดี 40% ผ่านงบประมาณการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

 สานสัมพันธ์ไทย-จีน กระตุ้นการรับรู้

ขณะเดียวกันนายจาง ต้ง อุปนายกสมาคมนักธุรกิจปักกิ่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมบันเทิงจากจีนสามารถเติบโตได้ในตลาดเมืองไทยคือการพีอาร์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้และทัศนะคติใหม่เกี่ยวกับคอนเทนต์บันเทิงจากจีนให้คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับสังคมจีนยุคใหม่ และตัวซีรีส์จีนสมัยใหม่แทนภาพจำเดิมที่เป็นความเป็นจีนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นทางทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ และช่องทางออนไลน์ เพื่อสื่อสารไปยังคนดูชาวไทยให้เปิดรับความเป็นจีนสมัยใหม่มากขึ้น

"ปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศจีนถือเป็นอุตสาหกรรมที่หลากหลายและครบวงจร แต่คนดูชาวไทยรวมไปถึงคนทั่วโลกยังติดภาพจำเกี่ยวกับจีนยุคเก่า ซึ่งการสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการการสื่อสารรูปแบบซี่รีส์ความเป็นจีนยุคใหม่ ในการสร้างตลาดและการเติบโตในอนาคต โดยมองให้คนดูยุคใหม่มองว่าเรื่องของการดูละครหรือซีรีส์ไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงแต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของจีนยุคใหม่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559