ปรับโฟกัสบอร์ดกขช.-ครม.ยิ่งลักษณ์3-5 เป้าร่อนตะแกรงร่วมชดใช้แสนล้านจำนำข้าว

04 ต.ค. 2559 | 05:30 น.
การไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบเพิ่ม เพื่อร่วมชดใช้ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวขยายวงกว้างเป็นลำดับแล้ว โดยยอดอีก 80 % หรือ 1.428 แสนล้านบาทนั้น นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง แนวความเห็นว่า หน่วยงานที่เสียหายต้องสืบสวนหาผู้ร่วมรับภาระชดใช้ความเสียหายที่เหลือภายใน 10 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงคลังมีระเบียบวางแนวปฏิบัติในการเรียกชดใช้ความเสียหาย กรณีการออกคำสั่งทางปกครองบังคับในความผิดทางละเมิดนั้น จะเรียกชดใช้ 20 % สำหรับกรณีประมาทเลินเล่อร้ายแรงจนรัฐเกิดความเสียหาย ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นอีก 60 % เรียกชดใช้จากระดับนโยบาย ผู้อนุมัติ ผู้สั่งการ และอีก 20 % สำหรับหน่วยปฏิบัติ ที่รับงานต่อมา
คณะกรรมการฯจึงมีมติให้เรียกชดใช้จากนางสาวยิ่งลักษณ์ 20 % เป็นเงิน 3.571 หมื่นล้านบาทแล้ว ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลจนนำสำนวนขึ้นฟ้องเป็นคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ผิดม.157 ประมวลกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ได้รับหนังสือเตือนแล้วยังประมาทให้ดำเนินการต่อจนเสียหาย

ที่ประชุมครม.ล่าสุด(27 ก.ย.นี้) เห็นชอบให้ป.ป.ท.เร่งรัดสรุปสำนวนคดีที่มีผู้ร้องเรียน กรณีความผิดชอบเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ซึ่งตั้งเป็นคดีแล้ว 850 คดี ให้แล้วเสร็จพร้อมส่งฟ้องศาลภายใน 6 เดือน และจำเรียกรับผิดทางละเมิดต่อ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และเอกชนจำนวนมาก อาทิ โรงสี โกดัง ในส่วนนี้ต้องร่วมรับผิดชอบ 20 % หรือ 3.571 หมื่นล้านบาท

อีก 60 % หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ต้องไล่เบี้ยเรียกให้ชดใช้จากระดับนโยบาย เจ้าของโครงการ ผู้อนุมัติโครงการ โดยกลุ่มแรกที่หนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วคือ อดีตคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ที่อนุมัติและกำกับโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว "ถือว่าอยู่ในข่าย"
แต่ก็ขยายความย้ำว่า แต่ใครจะต้องรับผิดชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เหมารวม กขช.ทั้งหมด หากคนที่ถูกป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ผิด ก็ไม่มีเหตุให้ต้องไปรื้อ เพราะป.ป.ช.เคลียร์แล้ว แต่ถ้าหลุดไปเพราะป.ป.ช.ยังสอบไม่ถึง ถือเป็นหน้าที่ของศอตช.ต้องไปดูเพิ่ม

ปฏิกิริยาทันทีจากผู้มีชื่อถูกระบุว่าเกี่ยวข้อง อาทิ นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นกรรมการในกขช. ตามคำสั่งนายกฯที่ 153/2554 บอกไม่หนักใจ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่ง และพร้อมสู้คดีเพราะทำงานด้วยความสุจริตมาโดยตลอด

ด้านนางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ต้องขอกลับไปดูบันทึกรายงานการประชุมที่ผ่านมาก่อน เพราะเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดนั้นเป็นไปไม่ได้ และตอนนั้นเพิ่งเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นช่วงมีปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่มีเวลาเข้าร่วมประชุมกขช.ทุกนัด

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) จำนวน 24 คน มี 1.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯเป็นประธาน 2.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์(ขณะนั้น) เป็นรองประธาน กรรมการอื่น ทั้งที่เป็นโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิ คือ 3.นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรมว.เกษตรฯ 4.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง 5.นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ 6.พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตรักษาการเลขาธิการนายกฯ /นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกฯ

7.น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อดีตปลัดก.เกษตรฯ/นายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดก.เกษตรฯ 8.นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดก.มหาดไทย/นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดมหาดไทย 9.นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม อดีตปลัดก.คลัง 10. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดก.อุตฯ 11นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ 12.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) 13.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผอ.สำนักงบฯ 14.พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ช่วยเลขาฯรมว.พาณิชย์

15.นายพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น 16.ผศ.ชาญคณิต กฤตยา สุริยะมณี คณะสังคมศาสตร์ฯม.มหิดล 17.ผศ.ทรงพร หาญสันติ ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรฯ 18.นายสุทธิกฤษฎิ์ ถนอมบูรณ์เจริญ 19.นายจักรพงษ์ แสงมณี อดีตกก.บริหารพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล 20.นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดก.พาณิชย์ 21.นางวัชรี วิมุกตายน อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน 22.นายราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตรองปลัดก.พาณิชย์ 23.นางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อดีตอธิบดีกรมการข้าว/นายพิทยา ฉิมพลี อธิบดีกรมการค้าข้าว

หากใช้เกณฑ์นับความเสียหายเกิดในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2555/2556 และ2556/2557 ซึ่งจะเริ่มในช่วงปลายปีและคร่อมไปถึงประมาณกลางปีถัดไป ตามที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง วางหลักไว้ หลายคนอาจโล่งเพราะพ้นตำแหน่งไปก่อน อาทิ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 พ้นตำแหน่ง 18 มกราคม 2555

เช่นเดียวกับพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ที่รักษาการเลขาธิการนายกฯอยู่ถึง 5 มิถุนายน ก่อนที่สุรนันทน์ เวชชาชีวะ จะมารับตำแหน่งและอยู่ร่วมครม.ยิ่งลักษณ์จนถึง 22 พฤษภาคมค.2557 และในกรณีนี้ยังมี นายธีระ วงศ์สมุทร (24 ต.ค.2555) น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ (30 ก.ย.2555)นายพระนาย สุวรรณรัฐ(30ก.ย.2555) หรือนายยรรยง พวงราช เกษียณในตำแหน่งปลัดก.พาณิชย์ (30 ก.ย.2555)

อีกส่วนที่น่าจะยังหนาว ๆ ร้อน ๆ ว่าต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหาย 1 แสนล้านหรือไม่ คือ บรรดาคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ชุดยิ่งลักษณ์ 3 (28 ต.ค.2555) ถึงยิ่งลักษณ์ 5 (5 มิ.ย.2556) เพราะอยู่ในช่วงโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกระบุ"ทำให้รัฐเสียหาย" ที่หน่วยงานตรวจสอบกำลังขีดวงเอกซเรย์หาคนร่วมรับผิดต้องชดใช้อีก 1 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559