‘WEF’เผยไทยติดท็อป 30 แนะใช้นวัตกรรมพ้นกับดัก

05 ต.ค. 2559 | 14:15 น.
ในรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ประจำปี 2016 ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 138 ประเทศทั่วโลก จากการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อมในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ World Economic Forum (WEF) ในประเทศไทย นำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก มีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้านนั้น ปรากฏผลว่า ปีนี้ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 34 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 32 มีคะแนน 4.6 เท่ากัน จาก 7 คะแนนเต็ม

[caption id="attachment_103291" align="aligncenter" width="335"] รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[/caption]

ทั้งนี้ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันในปีที่ผ่านมา พบว่าด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวมของไทย ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 จากอันดับที่ 27 เป็น 13 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากในแง่ของสมดุลในงบประมาณรัฐบาล สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติที่สูงขึ้น และสัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติที่ลดต่ำลง นอกจากนี้ด้านของนวัตกรรมซึ่งได้คะแนนเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่อันดับดีขึ้นจาก 57 เป็น 54

และเทียบกับภาพรวมการจัดอันดับทั้งโลก ไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย สมดุลในงบประมาณรัฐบาล และสัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 138 ประเทศ (ดีขึ้นอย่างมากจากอันดับในปีที่แล้วที่ 46 และ 26 ตามลำดับ) ส่วนขนาดของตลาดทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ได้รับการจัดอันดับที่ 13 และ 22 ตามลำดับ รวมถึงสัดส่วนของการส่งออกต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ อยู่ที่อันดับ 18 นับเป็นอันดับที่สูงมากเช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นทางด้านบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 23 ปัจจัยด้านการตลาดอยู่ที่ 24 และระดับการมุ่งเน้นลูกค้าอยู่ที่ 26 แสดงให้เห็นว่า ไทยได้รับการยอมรับอย่างสูงในด้านดังกล่าวในระดับโลก

เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 ไทยอยู่ในลำดับที่ 6 เป็นรอง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน โดยดัชนีชี้วัดของไทยที่โดดเด่น คือ ความน่าดึงดูดใจของทรัพย์สินทางธรรมชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 1 การให้ความสำคัญของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่ในอันดับ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น ในแง่ของความแข็งแกร่งของธนาคาร และการเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศ อยู่ในอันดับ 3 เป็นรองสิงคโปร์ และญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยด้านการตลาด และประสิทธิผลในการใช้การตลาดและแบรนดิ้งในการดึงดูดนักท่องเที่ยว อยู่ในอันดับ 3 สะท้อนถึงศักยภาพของไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ ทั้งทางด้านการเงินและการตลาดในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี

สำหรับข้อแนะนำต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางนั้น WEF เสนอแนะว่า ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเป็นพิเศษ นอกจากนี้เพื่อเตรียมรองรับต่อการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับทักษะของบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอนาคตการพัฒนาของภาคธุรกิจ และความสามารถทางด้านนวัตกรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559