สธ.เปิดตัวสกลนครมหานครแห่งพฤกษเวช 

29 ก.ย. 2559 | 06:55 น.
กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวสกลนครมหานครแห่งพฤกษเวช  ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบเมืองสมุนไพร ที่มีการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร  ทั้งการเพาะปลูก การแปรรูป และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเด่นประจำพื้นที่  ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (29 กันยายน 2559) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดตัวเมืองสมุนไพร  สกลนครมหานครแห่งพฤกษเวช ณ แปลงประชารัฐ บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 8 ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัด  ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้เป็นเมืองสมุนไพร  ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พร้อมเป็นประธานในกิจกรรมจัดผ้าป่าสมุนไพร  โดยประชาชน 1,000 คน จาก 18 อำเภอ นำกล้าสมุนไพรที่หายากและสมุนไพรที่ใช้ในการผลิตจำนวน 100,000 ต้น มามอบให้ เพื่อให้แปลงประชารัฐเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านสมุนไพร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัด

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพัฒนา “พืชสมุนไพร” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน โดยยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีก 8 กระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ดำเนินการด้วย 4 ยุทธศาสตร์ดังนี้ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรที่มีคุณภาพ ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการและยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการนโยบายและภาครัฐ

ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สร้างเมืองสมุนไพร  เพื่อให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร  มีการเพาะปลูก การแปรรูปและการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ  สร้างต้นแบบใน  4 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี สุราษฏร์ธานี เชียงราย และสกลนคร   โดยมีการดำเนินการดังนี้ 1.ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร  2.นำสมุนไพรผลิตภัณฑ์เด่น (OTOP) ประจำพื้นที่  3.นำสมุนไพรมาใช้ในระบบบริการสุขภาพทดแทนยาแผนปัจจุบัน ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  และ 4.ส่งเสริมการวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัย

สำหรับจังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่มีการดำเนินการจัดการด้านสมุนไพร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  โดยมีการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ปลอดสารเคมี การแปรรูปที่ได้มาตรฐานที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ  และการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร  ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน