‘ภาณุ’ทิ้งทวนภารกิจดับไฟใต้ จัดบิ๊กอีเวนต์ดึงทุนลุยพัฒนา3จังหวัด

03 ต.ค. 2559 | 01:30 น.
พูดถึงชายแดนภาคใต้ เชื่อมั่นว่า ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับผู้ชายที่ชื่อ "ภาณุ อุทัยรัตน์" เจ้าของพื้นที่ที่คลุกคลีทำงานมาต่อเนื่องหลายสิบปี ไต่เต้าจากตำแหน่งปลัดอำเภอระแงะ อำเภอแว้ง นายอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส นายอำเภอเมืองสงขลา ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระดับ 10 กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ก่อนย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
ฮอตสุดขีดกับตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รั้งท้ายกับตำแหน่ง เลขาธิการ ศอ.บ.ต. ล่าสุดติดโผเป็น 1 ใน ครม.ส่วนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมประกาศคำสั่งแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และสื่อสารตรงกับ นายกรัฐมนตรี

นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภารกิจสำคัญก่อนส่งไม้ต่อให้ กับคนใหม่ รวมถึงรายละเอียดการจัดงาน"มหกรรมเปิดโลกและมุมมองใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนนี้ ณ ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน บิ๊กอีเวนต์ใหญ่แห่งปี เป้าประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดแดนใต้

"ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาชายแดนใต้ วันนี้มาถึงโหมดของการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โมเดล "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.อำเภอหนองจิก จังหวัดยะลา ตั้งเป้าให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน 2.อำเภอเบตง จังหวัดปัตตานี เป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และ3.อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ"

แต่ภาพที่สังคมรู้สึกและคิดถึง คือ ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนนอกพื้นที่ ส่งผลต่อการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ในฐานะคนทำงานคลุกคลีในพื้นที่มานาน กลับเห็นต่าง มองว่าสถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีเศษๆ ที่ คสช.เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่ ทำให้มีเอกภาพ เกิดประสิทธิภาพในการดูแลแก้ไขปัญหา ความสำเร็จนี้วัดได้จากจำนวนเหตุความรุนแรงที่ลดลงกว่า 60% และมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ อันเกิดจากความร่วมมือของประชาชนกับหน่วยรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลปรับโหมดจากงานด้านความมั่นคงมาสู่งานเพื่อการพัฒนาในปัจจุบัน

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำลายโอกาสของคนในพื้นที่ ความรู้สึกนั้นได้ถูกบ่มเพาะมาจนถึงวันที่รัฐบาลประกาศจะพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจฯ วันนี้จึงเป็นโอกาสของคนในพื้นที่ที่จะมีรายได้ มีอาชีพ งานมหกรรมครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนไทยในทุกภูมิภาค ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ตลอดจนเห็นความสำคัญของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ตระหนักรู้ และสนับสนุนให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา ภายใต้แนวคิดที่ว่า "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน และ ปัญหาชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของรัฐบาล แต่เป็นปัญหาร่วมของคนไทยทุกคน

"เชื่อมั่นว่า มหกรรมครั้งนี้ขึ้นจะสร้างปรากฏการณ์ และแรงสั่นสะเทือนต่อความสนใจได้มากยิ่งขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเงื่อนไข และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆไปก่อนหน้านี้ที่สร้างมีความน่าสนใจให้กับนักลงทุนได้ระดับหนึ่งแล้ว งานครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น" นายภาณุ เลขาธิการ ศอ.บ.ต. กล่าว

ก่อนตบท้ายพูดติดตลก เมื่อถามถึงเส้นทางเดินหลังจากเกษียณอายุราชการไว้สั้นๆ ว่า "..ผมไม่ได้หนีหายไปไหน!! หลังจากนี้ก็จะยังทำงานอยู่แถวนี้ล่ะ.."

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559