ส่งออก 8 เดือนแรกปี 59 หดตัว -1.2% หนุนตัวเลขส่งออกทั้งปีหดตัวลดลงเหลือ -1.8%   

26 ก.ย. 2559 | 12:00 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง มูลค่าส่งออกสินค้า 8 เดือนแรกปี 2559 หดตัว -1.2% หนุนตัวเลขส่งออกทั้งปีหดตัวลดลงเหลือ -1.8%   

การส่งออกสินค้าของไทยพลิกกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่เคยติดลบตลอดช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ส.ค. 2559 อยู่ที่ 18,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 YoY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในเดือน ส.ค. ปีก่อน (ที่การส่งออกหดตัวร้อยละ 6.7 YoY) ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ 141,007 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 1.2 YoY

สินค้าส่งออกหลักอย่างรถยนต์กลับมาขยายตัวสูง โดยเฉพาะรถกระบะ การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบในเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.4 YoY โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0 และ 63.8 YoY ตามลำดับ เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องการลงบันทึกที่เหลื่อมเวลาจากเดือนก่อนหน้า ดังนั้นในระยะที่เหลือของปี 2559 มูลค่าการส่งออกรถยนต์คงกลับมาอยู่ในระดับการเติบโตที่เป็นเลขตัวเดียว โดยทั้งปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณส่งออกรถยนต์จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.0

ในขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเกษตรแปรรูปยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง สวนทางกับการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นที่ยังคงหดตัว มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะการส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 YoY ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งกุ้งสดแช่แข็งและกุ้งสดแปรรูป รวมถึงไก่สดแช่แข็งและแปรรูปยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นที่ยังคงหดตัว ตามการชะลอตัวของความต้องการสินค้าดังกล่าวของจีน โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกยางพาราติดลบสูงถึงร้อยละ 31.9 YoY หดตัวเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกข้าวยังคงลดลงร้อยละ 8.0 หดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องปริมาณส่งออกไปยังตลาดจีนลดลงร้อยละ 51.4 YoY

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ แต่ทิศทางการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้นในเดือน ส.ค. 2559 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2559 คาดว่าจะหดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -1.8 (เทียบกับประมาณการเดิมที่ร้อยละ -2.0)  รวมถึงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะสามารถรักษาระดับไว้ได้ที่เฉลี่ย 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แม้ว่ามูลค่าทองคำจะได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ตลาดคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2559 แต่สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูป คาดว่าจะยังคงเติบโตได้ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2559

kb26