TDRI เสนอตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยระยะยาวรับมือสังคมสูงวัย

26 ก.ย. 2559 | 07:40 น.
ดร.วรวรรณ  ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการแถลงผลการวิจัย“พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต”  ซึ่งทีดีอาร์ไอจัดขึ้นว่า ในสังคมปัจจุบันมีคำถามเรื่องการทำใจในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาไม่ใช่การรักษาโรค แต่เป็นเรื่องของการดูแลอาการ โดยภาระนี้เป็นของครอบครัวรับผิดชอบกันเอง  ยิ่งในอนาคตเมื่อครอบครัวมีขนาดเล็กลง  คนมีลูกน้อยลง บางคนไม่แต่งงานหรืออยู่คนเดียว  คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  คนที่แบกรับภาระจึงหนักมาก  จึงควรมีระบบบรรเทาภาระเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว  ซึ่งแยก ผู้สูงอายุติดบ้าน(ต้องการการดูแลบ้าง ไม่ตลอดเวลา) กับผู้สูงอายุติดเตียง(ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชม.)

ปัญหาของผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงนี้  งานศึกษาพบว่า ในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มรวมกันราว 3.7 แสนคน และในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2580) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน แต่สัดส่วนนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการดูแล โดยผู้สูงอายุติดเตียงต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา  ขณะที่ความต้องการผู้สูงอายุติดบ้านต้องการการดูแลโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ชั่วโมง/เดือน  จำนวนผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี้ส่งผลให้ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  โดยในปี 60 จะมีความต้องการผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงรวมกันราว 2.5 แสนคน และในปี 2580 ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 6 แสนคน ซึ่งจะเป็นอาชีพทีเกิดขึ้นได้ในอนาคต   ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลในส่วนที่นอกเหนือจากระบบที่ภาครัฐให้การดูแล  นั่นคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว  อาทิ ค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางผู้จัดการการดูแล  ค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางผู้ดูแล  รวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายในการดูแลดูสูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงจะเพิ่มขึ้นเป็น เกือบ 2 แสนล้านบาท

งานศึกษาจึงออกแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว  โดยยึดหลักการแบ่งกันร่วมความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามสัดส่วนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนภาครัฐนอกจากบริการทางการแพทย์พื้นฐานภายใต้งบประมาณปกติแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่ม คือ การจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว  และให้ประชาชนอายุ 40-65 ปี ร่วมกันจ่ายเงินสมทบในแต่ละปีเพื่อนำไปบริหารจัดการช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุสำหรับค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางของผู้จัดการการดูแล  ส่วนค่าจ้างและค่าเดินทางของผู้ดูแลผู้ป่วยให้ผู้ใช้บริการและท้องถิ่นรับผิดชอบคนละครึ่ง  ขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการบริจาคเงินสมทบผ่านท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สังคมสูงอายุไม่ได้แย่เสมอไป  จะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น เช่น  กิจการผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานให้บริการ(ต้องได้รับใบอนุญาต) บริการรถรับ-ส่งผู้สูงอายุหรือผู้พิการ  บริการดูแลระยะยาวและ day care  ตัวแทนขายวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้รับประโยชน์  ตลาดสินค้า(สำหรับผู้สูงอายุ) มือสอง บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้โดยผู้สูงอายุ เป็นต้น

"นี่คือ  ภาพรวมของการออกแบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในบทบาทของตัวเองในการสร้างระบบให้เกิดขึ้นและดูแลกำกับให้เกิดคุณภาพ  โดยต้องมีคณะกรรมการกำกับและควบคุมคุณภาพสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานบริการและรถรับส่งผู้สูงอายุ/ผู้พิการ  ขณะที่ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนคุณภาพการให้บริการได้" ดร.วรวรรณ กล่าว