พระปฏิมาต้องห้าม และปรอทสำเร็จฝ่ายพม่า

06 ส.ค. 2565 | 05:56 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ต่อเนื่องมาจากฉบับก่อนที่ว่าด้วยพระมหาเจดีย์ชเวดากองนั้น ศิลปวัตถุอย่างพระพุทธรูปโบราณสำคัญๆที่ประดิษฐานอยู่รอบลานประทักษิณพระมหาเจดีย์มีให้ชมความงามอยู่จำนวนมากทั้งพระปฏิมาทองคำแบบยืนรูปทรงอย่างไทยล้อมรั้วเหล็กลูกกรงไว้ก็มี บ่อน้ำที่ใช้สรงพระบรมธาตุก่อนบรรจุในพระมหาเจดีย์ก่อปราสาทไม้รูปพญานาคทวยเทพนรสีห์ลงสีไว้ก็สวยงามศิลปะ ไหนจะประดาปูนปั้นรูปคนรูปสัตว์ออกท่าทางสวยงามต่างๆ ระฆังกังสดาล มโหรทึก น่าดูน่าชมเปนที่ยิ่ง
 

ก็มีอยู่อย่างหนึ่งคือ จอโทรทัศน์ขนาดยักษ์ ที่ถ่ายทอดภาพนิ่ง real time ของพระปฏิมาสำคัญขนาดใหญ่องค์หนึ่ง พระองค์นี้มีพระเนตร

ทำด้วยทับทิมพม่าสีแดงสดก่ำ เปนพระปางประทับนั่งเนื้อเหมือนโลหะทองคำจอ LED นี้ถ่ายทอดภาพของท่านตลอด 24 ชั่วโมง มีจำนวน 4 จอ ตั้งอยู่ 4 ทิศในซุ้มจระนำที่ทำไว้โดยรอบพระมหาเจดีย์ชั้นใน
 

เปนที่รู้กันว่าพระปฏิมานี้มีอำนาจลึกลับพิเศษกษัตราธิราชของพม่าแต่โบราณมามีราชโองการห้ามขาด มิให้เจ้าฟ้ารัชทายาทเข้าสักการะพระปฏิมาตาทับทิมองค์นี้ ด้วยว่าความลับก็คือถ้ารัชทายาทผู้ใดได้สบตาสายพระเนตรทับทิมศักดิสิทธิของท่านแล้วจะบังเกิดกำลังหาญกล้าถึงขั้นทำการกบฎปฏิวัติหักเอาราชสมบัติโค่นองค์รัฐาธิปัตย์พระราชบิดา/มารดาลงได้ จึงต้องเก็บงำไว้ที่อุโมงค์ข้างในองค์พระมหาเจดีย์เปนที่ต้องห้ามเสมอมา

ว่ากันว่าท่านบรมครูผู้มีฤทธิ์ได้ประจุกำลังลึกลับไว้ที่พระปฏิมานี้โดยเฉพาะที่ลูกตา เปนทับทิมพม่าอย่างว่าทับทิมเสก ดังนี้แล้วในยุคถัดๆมาเพื่อยืนยันว่าดวงตาและพระปฏิมายังอยู่แน่จึงได้มีการถ่ายทอดสดผ่านวงจนปิดออกมาให้สาธารณชนได้เเลเห็น ส่วนการเปิดให้เข้าชมนั้นถ้าเชื่อเรื่องลึกลับเช่นว่าก็เห็นทีจะไม่เปนการ ใช้วิธีลดความ ‘แรง’ ด้วยการถ่ายทอดทีวีท่าจะดีกว่า เผื่อใครพา ผบ. เหล่าทัพมาไหว้สบตากระเดี๋ยวก็เปนได้พาประธานาธิบดีหลุดทำเนียบกันพอดี ส่วนถ้าใครไม่เชื่อความลึกลับฤทธี เช่นว่า การถ่ายทอดวงจรปิดก็เห็นทีจะเปนได้เพียงเหตุผลในการรักษาความปลอดภัยของโบราณวัตถุอันมีค่าควรเมืองโดยเฉพาะทับทิมเม็ดเป้งๆที่มีมูลค่ามหาศาลคู่นั้นโดยยังไม่นับตัวเนื้อโลหะสร้างพระ ที่เรียกกันในวงผู้เล่นของลึกลับว่าสร้างมา จาก ‘ปรอทสำเร็จ’ กินทองคำ


-----


ปรอทสำเร็จ คือ อะไร?
 

ยามเข้าๆออกๆพม่าหลังมานี้ ได้พบเรื่องลึกๆเร้นๆเกี่ยวแก่ปรอทมากมาย บ้านเขาไม่เห็นว่าปรอทเปนของเหลวสีเงินยวงอย่างบ้านเราและคล้ายกับว่าจะนิยามกันคนละอย่าง คือ ไม่ใช่ mercury ใช้วัดไข้เสียทีเดียวพระสงฆ์บางรูปเจริญกรรมฐานอยู่ตามมุมพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ยามเมื่อเราถวายสังฆทานอัฐบริขารแล้วถอยออกมา ท่านกวักมือเรียกให้ไปหา บ้างก็หยิบจากย่ามออกมาให้เปนเม็ดขนาดท่าปลายก้อยผู้ใหญ่บ้าง ปลายก้อยเด็กเกิดใหม่บ้างส่งมาให้ เข้าใจนั่นแหละว่าเปนปรอท แต่ไม่ค่อยจะวางใจเท่าไรนักกลัวเปนเม็ดกัมมันตภาพรังสี ด้วยเห็นชนพม่าบางหมู่อมเม็ดอย่างนี้ในปากไว้แก้มตุ่ยส่งแสงเรื่อๆแดงๆผ่านหนังกระพุ้งแก้มบางๆของพวกเขา แต่เขาไม่กลัวอย่างเราเพราะเขาว่ามัน ‘สำเร็จ’ ไปแล้ว
 

ไม่แน่ใจว่าอย่างไร 

 

ทว่าในความรับรู้ของฝ่ายไทยทางคติชนวิทยานั้นอันปรอทนี้ฝ่ายเมืองนนท์เขาว่า มันชอบกินไข่เน่า มักไปดักเอาตามแหล่งน้ำไหลเลี้ยว ได้มาแล้วก็เอามาฆ่าพิษ, ดูดพิษ,หุงพิษอะไรต่างๆ (ทำให้สำเร็จ) แล้วจะมีลักษณาการอย่างเหลว เอาประจุในเบี้ยแก้เขย่าแล้วดังขลุกๆ


 

ฟากแม่กลองว่ามันเปนธาตุสามัญอยู่ในอากาศก็มี ในดินก็มาก คนมีวิทยาการดักเอาด้วยเทคนิฆวิชชา ได้ปรอทมีวรรณะหลายอย่าง 
 

ฟากนครชัยศรีว่าปรอททองก็มีเปนปรอทผู้ดี กินของดักโดยสุภาพไม่มูมมาม ปรอทดินก็มี มีฤทธิ์เย็น ปรอทไฟก็มี เปนพญาปรอท ของพวกฤาษีชีไพรที่สำเร็จวิทยา ปรอทแก้ว ปรอทไม้มีทั้งนั้น 
 

พวกวัดเพลงเคยว่าบางคราวที่วัดจัดปลุกเสกวัตถุมงคล เกจิอาจารย์ฝ่ายปรอทมาร่วมพิธีเสร็จงานแล้วเช็ดมือเปื้อนปรอทหุงที่หลังรูปปั้นนกในวัด ค่ำลงนกปูนก็เกิดมีชีวิตบินออกไปจิกคนได้มีเหตุเกิดถึงสามคืนเจ้าอาวาสวัดเพลงรู้ทางจึงทำพิธีสะเดาะห์ เรียกว่าการผนึกปรอท ไม่ให้ปรอทหุงนั้นมีอำนาจเดินหนได้เปนอันจบเรื่องกันไป ที่ประจวบวัดที่มีหงส์ปูนใหญ่ๆริมทางเพชรเกษมลือกันเปนตุตะว่าดึกๆบินได้ไปกินคน ถ้าจะให้เข้ากันกับท้องเรื่องก็ต้องปูทางว่าเปนหงส์ปรอท !
 

อีทีนี้ก็มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวแก่ปรอทพม่าที่น่าบันทึกไว้ ผ่านเรื่องราวของครูบาสีอ่อง เมืองลำปาง ครูบาสีอ่อง นี้ซึ่งท่านมีเชื้อสายพม่าล้านนา ลงมาอยู่เมืองหลวงจำพรรษาอยู่วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม ตัวท่านเองคราวรัชกาลก่อนมีพระมหากรุณาฯ พระราชทานเลื่อนพระครูวิริยะกิตติ_หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลีขึ้นเปนพระราชาคณะที่ พระสังวรวิมลเถรนั้น หนึ่งในสามฐานานุกรมของท่านคือ ครูบาสีอ่อง ชยสิริ ท่านนี้คนทั่วไปเรียกกันว่า พระสมุห์ สีอ่อง
 

ครูบาสีอ่องนั้น ชราเข้าแล้วก็ย้ายขึ้นมาเปนสมภารอยู่ในลำปางท่านมีวิชาสำคัญคือวิชาปรอททำวัสดุเล่นแร่แปรธาตุไว้อย่างหนึ่งก็คือปรอทกินเงิน ปรอทกินทองลักษณาการคล้ายก้อนเม็ดเท่าปลายนิ้วเปนโลหะมีอานุภาพแปลกประหลาด
 

อันว่าลำปางเขลางค์นครนี้ เคยตกเปนหัวเมืองที่พม่าเข้าครองมาก่อนค่าที่เก่าแก่กว่าเชียงใหม่ อะไรๆในลำปางยังมีกลิ่นอายของพม่าอยู่มาก วัดสำคัญๆศิลปะพม่า มีเยอะ ไหนจะตึกอาคารไม้สักแกะสลักฝีมือม่าน เจ้าสัวพม่ามาอยู่มีลูกหลานเปนไทยอยู่หลายชั่วคน เคยตั้งขบวนรถม้าไปทำสังฆทานเก้าวัด สนุกรื่นเริงบุญ ไปพอๆกับเอร็ดอร่อยปาก


 

ครูบาสีอ่องท่านเองก็ไปอยู่ย่างกุ้งเปนสิบๆปี ได้วิชาโลกะหิตะอัคคียศาสตร์ สายวิชาท่านมหาฤาษีบรมครูภูภู่อ่องมา มีความสามารถเล่นแร่แปรธาตุทำปรอทให้สำเร็จ success ได้
 

พิสูจน์จากว่ามีคดีพระพม่าในลำปางถูกพ่อค้าร้านทองแจ้งจับดำเนินคดี ด้วยว่ามาเชื่อเอาสร้อยทองคำที่ตลาดเวียงละกอนไป ตั้งใจจะเอาไปถลุงปรอท ซึ่งผลที่คาดหวังคือจะทำให้ปรอทคายทองคำออกมามีน้ำหนักเท่ากับเส้นสร้อยทองที่ใช้ไปในการถลุงหุงธาตุคูณสองเท่า ตำรวจไทยพูดพม่าไม่ได้แต่เห็นเปนคดีพระ นิมนต์เจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ วัดคะตึกเชียงมั่น เจ้าคณะลำปางขึ้นโรงพัก ท่านเจ้าคุณก็พูดพม่าไม่ได้ นิมนต์ครูบาสีอ่องเปนล่าม จึงได้ทราบว่าทองคำเส้นที่เชื่อไปนั้นบัดนี้หลอมเข้าด้วยปรอทพม่าเสียแล้ว ครูบาเจรจาว่า ถ้าได้ทองคำหนักแค่เท่าสร้อยเจ้าปัญหามาคืน ร้านทองจะว่าอย่างไร? พ่อค้าทองก็ตกลง ท่านจึงขอให้เจ้าคุณอินท์สั่งให้พระพม่าทั้งสองนั้นสำรอกทองคำออกจากปรอท สองพระพม่าก็กราบ
 

เรียนว่าทำไม่ได้ ได้พยายามทำมาหลายสัปดาห์แล้ว เพราะวิชชาที่ทำมาสุดทางที่ “ปรอทกินทอง” บังคับให้ปรอทสำรอกทองออกมาจากที่กินไปแล้วสุดภูมิวิชากระทำไม่ได้
 

ครูบาสีอ่องจึงต้องไปทำงานสะเดาะปรอทให้สำรอกทองออกมาเพื่อคืนให้เจ้าของได้สำเร็จอิทธิวัตถุที่ครูบาสีอ่องได้ทำไว้ คือปรอทกินเงิน และ ปรอทกินทอง มีลักษณะเปนเม็ดแข็ง เหมือนที่พบเจอในพม่า ลูกศิษย์ลูกหานิยมจับขอบแขวนหรือทำแหวนให้สัมผัสผิวหนังร่างกาย นัยยะว่าเปนเครื่องช่วยดึงโชคลาภมาสู่ตน และดูดพิษดูดเคราะห์ร้ายออกจากตัวดังนี้ 
 

กลับมาที่ท่านต้นสายวิชา ซึ่งทางพม่านับถือมากๆมีอยู่สองท่านคือพระมหาราชครูภูภู่อ่อง และ มหาฤาษีโพมินข่อง ท่านทั้งสองนี่แลที่เปนผู้สร้างพระปฏิมาต้องห้ามตาทับทิมดังได้เล่าไว้ ทั้งยังสร้างเสกพระปฏิมาสำคัญรอบๆพระมหาเจดีย์อีกหลายองค์ อันเปน ที่เคารพสักการะของพม่ารามัญชนอยู่ทั่วไปมาจนบัดนี้


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,807 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565