Perfect Storm “มหาพายุเศรษฐกิจ” 

19 มิ.ย. 2565 | 02:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ 

     16 มิถุนายน 2565 ช่วงเวลา 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ และทีมเศรษฐกิจประชุมด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยพรวดเดียว 0.75% ไปสู่ระดับ 1.50-1.75% ถือเป็นการปรับดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดรอบเกือบ 30 ปี เพื่อกำกับดูแลเงินเฟ้อที่พุ่งทะลุฟ้า 8.6% จนเกิดแรงกระแทกไปทั้งโลก 

 

     เป็นการเรียกประชุมแบบฉุกเฉิน เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างหนักหน่วงของสหรัฐ การดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจเดือนละ 4.7-9.8 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐว่าจะกระทบอย่างไร ในเรื่องเศรษฐกิจ เงินทุนเคลื่อนย้าย เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน แก๊สแพง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาระค่าครองชีพของประชาชน อย่างรุนแรง 

 

     ผมเห็นว่า การทำงานแบบนี้จึงจะเป็นเชิงรุกในภาวะวิกฤติ แต่กระบวนการทางนโยบายของรัฐบาล ต้องไม่ทำเพียงแค่ “พิธีกรรมการประชุม” แล้วจบ หรือรอนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เหมือนเช่นที่ผ่านมา

     เพราะในภาวะวิกฤตินั้น การตัดสินใจของผู้นำสำคัญต่อการรับแรงกระแทกของเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนอย่างมาก 

 

     สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ใครจะว่าอย่างไรผมไม่รู้ ผมรู้แต่เพียงว่า เศรษฐกิจ เข้าสู่ภาวะชะงักงันเต็มรูปแบบแล้ว และในไม่เกิน 1-2 เดือนหลังจากนี้ไป แรงกระแทกจากเศรษฐกิจชะงักงันของแพง คนไม่มีแรงซื้อ จะขยายวงกว้างออกไป เงินในกระเป๋าของผู้คนจะมีค่าลดลง ความฝืดเคืองจะมาเยือนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

     16 มิถุนายน 2565 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเดิมคิดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% การส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ 6.3%  อัตราเงินเฟ้อจะถีบตัวสูงขึ้นอยู่นระดับ 6%  ราคาน้ำมันดิบดูไบจะขุ้นไปยืนอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  

 

     และราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร จะมีผลกับการขยายตัวของจีดีพี 0.2% ขณะที่น้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อเศรษฐกิจ 0.1% 

 

     อ่านเผินๆ ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ความจริงแล้วเขากำลังบอกว่า เดิมทีนั้นคิดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวขึ้นมาจากเดิม 16 ล้านล้านบาท ได้อีกราว 672,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อโลก ทำให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของไทยที่มาจากการทำมาหาได้ขยายตัวได้ 496,000 ล้านบาทเท่านั้น 

     ขณะที่เงินเฟ้อที่สะท้อนมาจากราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 6% ประชาชนต้องควักเงินไปจ่ายค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกันกับเงินเฟ้อนั่นเอง

 

     เมื่อผสมกับการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่จะกดดันให้ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมในเรื่องต้นทุนการจ่ายของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยแค่ 1% รับประกันได้ว่าจะสลบไปตามๆ กัน 

 

     นั่นย่อมทำให้เงินในกระเป๋าลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น การทำมาค้าขายฝืดเคือง ไม่ชะงักงัน ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว! 

 

     ความจริงแล้วคนที่ติดตามทางเศรษฐกิจ ปากท้อง เขาประเมินมาก่อนหน้าว่า เศรษฐกิจไทยจะชะงักงัน ให้รับมือกับภาวะพายุเศรษฐกิจที่จะถาโถมเข้าใส่ผู้คนมามระยะหนึ่ง 

 

     ผมอยากให้พวกเราพิจารณาความเห็นของผู้รู้ที่เป็นกูรู ได้สังเคราะห์และเสนอปัญหาเพื่อเติมปัญญา แง่คิดในการรับมือกันให้ดี 

 

     “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ  ธนาคารกรุงเทพ ออกมาบอกว่า มรสุมเศรษฐกิจกำลังก่อตัว  Perfect Storm กำลังมา เรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจ ที่ไม่ง่าย  ถือเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี  โดยจะมีมรสุม  Perfect Storm ถาโถมมาใส่เรา 3 ลูกใหญ่ๆ 

 

     Perfect Storm ลูกแรกมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปและโลกจะกระทบกับเราหนัก  

 

     1.จะเกิดวิกฤติการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ (Geopolitical Crisis) ซึ่งปัญหานี้กำลังยกระดับขึ้นเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง ตลอดจนการแยกส่วนของระบบเศรษฐกิจโลก ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

     2 วิกฤติราคาพลังงานส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาเรล กดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศต่างๆ ในไทย เริ่มเห็นราคาน้ำมันที่ 50 บาท/ลิตรแล้ว 

 

     3.วิกฤติอาหารโลก ที่กระทบคนนับเป็นร้อยล้านคน และอาจนำไปสู่การประท้วง เกิดวิกฤติเชิงสังคมและการเมืองในประเทศต่างๆ  

 

Perfect Storm “มหาพายุเศรษฐกิจ” 

 

     Perfect Storm ลูกที่สองมาจากทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นแรงกระแทกมาจากความผิดพลาดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประเมินผลกระทบจากโควิดทำให้เฟดมือหนัก ใส่ยากระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปมากกว่าควร ทั้งเรื่องดอกเบี้ยและเรื่องสภาพคล่อง เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจึงมีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อ จนต้องมาวิ่งไล่ปัญหาอยู่ในขณะนี้ นำไปสู่วิกฤติความผันผวนในตลาดการเงินโลก ราคาสินทรัพย์ต่างๆ พันธบัตร คริปโตเคอเรซี่ ค่าเงิน  ผันผวนแปรปรวน 

 

     โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ( Recession ) ในสหรัฐและประเทศต่างๆ  จากผลกระทบการปรับดอกเบี้ยเฟดที่ต้องปรับขึ้นสูงพอที่จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัดจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาทันที 

 

     โอกาสการที่จะเกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศ Emerging Market Crisis หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่สูงขึ้น ขณะนี้เริ่มเห็นประเทศเล็กๆ ซึ่งอ่อนแอ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน กำลังเผชิญกับวิกฤติ และปัญหานี้กำลังลุกลามไปประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่เฟดเพิ่งจะเริ่มการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง และยังไม่ได้ดึงสภาพคล่องกลับ แต่ประเทศอ่อนแอล้มพับให้เห็นแล้ว     

 

     Perfect Storm ลูกที่สามเกิดในทวีปเอเชีย จากจีนที่มีปัญหาความเปราะบางจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สะสมมานานหลายสิบปี และเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มต้นจาก Evergrande และลุกลามไปบริษัทอื่นๆ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากและมีโอกาสที่จะลุกลามบานปลาย กลายเป็นวิกฤตเต็มรูปแบบในจีนได้  

 

     อีกทั้ง การใช้นโยบายการต่อสู้กับโควิดของจีน  Zero-Covid กำลังกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก และ ห่วงโซ่การผลิตของโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ 

 

     สอดรับกับข้อคิดเห็นของ คุณนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เห็นว่า มหาพายุทั้ง 3 ลูก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)  ไม่ว่าจะเป็นข้าวของแพง ภาคการเงินปั่นป่วน เงินจะไหลออกในระยะปานกลาง ขณะที่ภาคส่งออกจะมีรายได้ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้าเข้าไปอีก 

 

     คุณคริสตินา จีโอจีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ออกมาเตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากทั้งการระบาดของโควิด 19 ความขัดแย้งในยูเครน และตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหา “ซัพพลาย เชน” ที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทีเดียว 

 

     โดยถึงปัจจุบันมี 30 ประเทศทั่วโลก ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก 

 

     เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจพี มอร์แกน เชส บริษัทด้านการลงทุนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ออกมาส่งสัญญาณในงานสัมมนาเบิร์นสไตน์ ของแวดวงธนาคารสหรัฐว่า เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ที่เหมือนพายุเฮอริเคน 

 

     “ตอนนี้ ทุกคนคิดว่า เฟด รับมือได้ แต่พายุเฮอริเคนมาแล้วนะครับ พัดลงมายังถนนและมุ่งหน้ามายังเราแล้ว พายุลูกนี้เป็นเฮอริเคน ผมบอกคุณได้ว่า แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะไม่เหมือนสึนามิ ที่ธนาคารเคยเจอเมื่อปี 2007-2008 ตอนที่ตลาดจำนองเจ๊งระเนระนาด และสถาบันการเงินล่มไปตามๆ กัน แต่เฮอริเคนเศรษฐกิจจะสร้างความเสียหายมากกว่าพายุธรรมดาอยู่ดีและสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ที่อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งไปถึง 150-175 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” 

 

     ถ้าเป็นเหมือนที่ “กูรูด้านเศรษฐกิจของโลก” ประเมิน ผมบอกได้ว่าเราลำบากแน่ และถ้ารัฐบาลยังบริหารแบบตั้งรับ เดือดร้อนกันทุกคนแน่นอนครับ...ขยับกันให้ไวนะครับ