รัฐข้าราชการบำนาญ หลุมดำประเทศ

04 มิ.ย. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2565 ถือว่าดุเดือด และมีคุณค่าต่อประชาชนไม่น้อย 
 

ผมคนหนึ่งละครับ ที่ขอปรบมือ ชมเชยพรรคฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล ที่ลุกขึ้นอภิปรายแลเสนอแนะรัฐบาลในการจัดสรรวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท ลงไปในแต่ละโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ผมขอปรบมมือให้ คุณอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล้าหาญออกมาชำแหละงบให้เราเห็นถึงรายละเอียดว่า การพิจารณาตัวเลขงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เช่น ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี เกษตร นั้นถือว่าน้อยมาก
 

เกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มเป็น 7.8 หมื่นล้าน จากปี 2565 จัดสรรให้ 4.6หมื่นล้านบาท 

ขณะที่เอสเอ็มอี พบว่า ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 2,721 ล้านบาท 
 

ถือเป็นการจัดสรรงบแบบเสียไม่ได้ เพราะเมื่อนำงบจำนวนดังกล่าวหารกับเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3.2 ล้านราย จะพบว่าจะได้เฉลี่ยคนละ 856 บาทต่อรายต่อปี 
 

แต่เมื่อเทียบกับงบบุคลากรภาครัฐที่มี 2.1 ล้านคน แต่ได้รับงบประมาณไป 1.3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยบุคลากรภาครัฐ 1 คนจะได้ 6 แสนบาท
 

ผมเห็นด้วยกับ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เพราะภาพรวมของงบประมาณเป็นเหมือน “ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้” ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น 


 

แต่เนื้อในของงบรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจ และความทุกข์ระทมของผู้คนที่จนลงจากวิกฤตโรคใน3 ปี ที่ผ่านมาได้
 

ผมเกาะติดงบมาอย่างต่อเนื่องในชีวิตการทำงานข่าว เห็นว่า กาจัดทำงบประมาณตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ประเทศ
 

เป็นการทำงบประมาณแบบปกติ ทั้งๆ ที่ประเทศวิกฤต เราไม่มีแผนงาน


งบพิเศษไว้ รับมือในสถานการณ์ Crisis ที่รุนแรงเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่ควรมีอย่างยิ่ง


 

ร้ายไปกว่านั้นคือ การจัดงบประมาณตอนนี้ เป็นการจัดงบเพื่อรัฐข้าราชการไปเสียแล้ว
 

งบประมาณปี 2566 จำนวน 3.2 ล้านล้าน เพิ่มขึ้นเพียง 26% กลายเป็นว่าต้องตั้งงบเบี้ยหวัดบำเน็จบำนาญ เพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านต่อปี เป็น 3.2 แสนล้านต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 144%
 

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 มีการตั้งจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 10% ของงบรวม


 

เท่ากับว่า ในทุกๆ 100 บาทของงบประมาณประเทศ จะต้องปันไปจ่ายเงินดูแลข้าราชการบุคคลากรของรัฐที่เกษียณ 10 บาทแล้ว
 

แบบนี้ ประเทศจะไปทางไหนได้ครับ
 

เรื่องใหญ่ตอนนี้จึงมิใช่งบกลาโหมเสียแล้ว
 

งบฯกองทัพ ภายใต้รัฐบาลคสช.-พล.อ.ประยุทธ์ 


 

ปี’57 จำนวน 183,819 ล้านบาท 
 

ปี’58 จำนวน 192,949 ล้านบาท 
 

ปี’59 จำนวน 206,461 ล้านบาท 
 

ปี’60 จำนวน 213,544 ล้านบาท 
 

ปี’61 จำนวน 218,503 ล้านบาท 
 

ปี’62 จำนวน 227,126 ล้านบาท 
 

ปี’63 จำนวน 231,745 ล้านบาท 
 

ปี’64 จำนวน 214,530 ล้านบาท 
 

ปี’65 จำนวน 201,666 ล้านบาท 
 

ปี’66 จำนวน 197,292 ล้านบาท 
 

9 ปี กว่า 2,087,635 ล้านบาท


 

คราวนี้มาดูงบบำเน็จบำนาญข้ารราชการ หากนับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมาและบริหารต่อเนื่องยาว 8 ปี งบบำเน็จ บำนาญเพิ่มขึ้นแซง “งบกลาโหม” เป็นครั้งแรกในปี 2562 ต่อมาเริ่มทิ้งขาดแบบไม่เห็นฝุ่นหลังจากนั้น 
 

ปัจจุบัน งบกลาโหมยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านต่อปี 
 

งบบำเน็จบำนาญพุ่งทะลุ 3.2 แสนล้านต่อปี
 

ถ้าพิจารณาสัดส่วนต่องบรวม งบกลาโหมค่อยๆ ปรับตัวลดลงจากระดับ 7% ลงเหลือ 6% เมื่อเทียบกับงบรวม 
 

สวนทางกับงบบำเน็จบำนาญที่เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10%  เมื่อเทียบกับงบรวม
 

นี่คือจุดตายที่ทำให้งบลงทุนไม่มี เราดูแลข้าราชการเกษียณเหล่านี้จนหมดหน้าตักในการพัฒนาประเทศแล้วครับ
 

ประเทศไทยจึงหมดแรง กลายเป็นรัฐราชการบำนาญ เรียบร้อยไปแล้วครับ