เมื่อเทคโนโลยี​ดิจิทัลอาจฆ่าคุณได้ จะมีใครช่วยกำกับดูแล?

02 เม.ย. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ THE HACKER โดย : AFON CYBER

“จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อรถสมาร์ทคาร์สุดหรูของคุณขับที่ความเร็ว 90 กม./ชม. แล้วระบบเบรกไม่ทำงาน เพราะถูกแฮกเกอร์เจาะเข้าไปยังกล่องควบคุมของรถได้”


บางคนอ่านแล้วคิดถึงภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดส์ แต่ความจริงก็คือ ภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดส์ได้เอาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีใส่ไว้ในภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงได้อย่างแยบยล ซึ่งหลายคนคงคิดว่าในโลกของความเป็นจริงนั้นมันคงไม่ง่ายเหมือนที่เห็นในภาพยนตร์ แต่ข่าวร้ายที่อยากจะบอกกับทุกท่านคือ “มันเป็นไปได้จริง” ครับ 

และเมื่อหลายปีก่อนก็ได้มีการสาธิตออกทางช่องข่าวยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาหลายช่อง โดยผู้สาธิตจำลองสถานการณ์เป็นแฮกเกอร์เจาะเข้าสู่กล่องควบคุมระบบของรถยนตร์ผ่านทางอินเตอร์เน็ทข้ามมาจากอีกเมืองหนึ่ง และสามารถควบคุมระบบต่างๆ ของรถยนตร์ได้ ตั้งแต่ระบบควบคุมพวงมาลัยรถ เปิดปิดเครื่องยนต์ รวมถึงการตัดระบบเบรกออกจากการควบคุมของผู้ขับขี่ได้ 


นั่นหมายความว่าผู้ขับขี่เหยียบเบรกแต่ระบบเบรกจะไม่ทำงาน หรือถ้าคุณกำลังจอดรถชมวิวอยู่บนหน้าผา หรือติดไฟแดงอยู่คันแรกสุด แล้วมีแฮกเกอร์แฮกเข้ามาเข้าเกียร์แล้วกดคันเร่งให้รถคุณพุ่งออกไป คงดูไม่จืดครับ ฟังดูแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ อันนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นนะครับ
(แหล่งข้อมูลอ้างอิง: https://youtu.be/MK0SrxBC1xs)

“ในอนาคตอันใกล้ จะมีการเรียกค่าไถ่จากการใช้รถของคุณ”


ลองนึกภาพตามดูนะครับ คุณขับรถไปจอดที่ห้างแห่งหนึ่ง หลังจากที่ทำธุระเสร็จกลับมาที่รถ พอจะสตาร์ทรถ กลับมีข้อความขึ้นที่หน้าจอว่า “กรุณาโอน bitcoin จำนวน… ไปยังเลขที่บัญชี้นี้… เพื่อให้รถของคุณกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง” มันคือการที่แฮกเกอร์ใช้ ransomware หรือโปรแกรมเรียกค่าไถ่กับรถของคุณ อันนี้ไม่ใช่จินตนาการนะครับ มีนักวิจัยได้ทดลองจัดทำกรณีศึกษา แล้วพบว่าทำได้จริงครับ


“เครื่องมือแพทย์ในห้องฉุกเฉินติด ransomware ไม่สามารถใช้งานได้ จนมีผู้ป่วยเสียชีวิต”


ในปี 2020 ที่ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี พบว่ามีอุปกรณ์การแพทย์ในห้องฉุกเฉินติด ransomware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ไม่สามารถทำงานได้จนต้องทำการย้ายผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่ไกลออกไปอีกกว่า 30 ก.ม. เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง 
(แหล่งข้อมูลอ้างอิง: https://www.zdnet.com/article/first-death-reported-following-a-ransomware-attack-on-a-german-hospital/)


นี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่อยากให้ทุกท่านได้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของพวกเราจนน่ากลัวเพียงใด บางครั้งอาจถึงขั้นพรากชีวิตตัวเราหรือคนที่เรารักได้ บางครั้งก็อาจเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของเราได้ เช่นการแฮกเข้ามาดูกล้องวงจรปิดภายในที่พักหรืออาคารสำนักงานได้เป็นต้น 


ซึ่งก็เคยมีเหตุการณ์ที่คนร้ายแฮกเข้าไปยังกล้องวงจรปิดของบ้านหลังหนึ่งแล้วบันทึกวิดีโอขณะที่เจ้าของบ้านทำอะไรส่วนตัวอยู่แล้วนำวิดีโอนั้นไปเรียกค่าไถ่กับเจ้าของบ้านว่าหากไม่จ่ายค่าไถ่จะนำเอาวิดีโอนี้เผยแพร่ทาง youtube


สิ่งอยากชวนพวกเราคิดคือ ตัวอย่างทั้งหลายที่ได้หยิบยกมานี้ เป็นการยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง และเป็นความเสี่ยงต่อผู้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างพวกเราทุกคน คำถามคือ พวกเราควรได้รับการคุ้มครองจากการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้หรือไม่ มีหน่วยงานใดได้ออกมากำกับดูแลหรือวางมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ ในต่างประเทศเริ่มมีครับ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีครับ


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรจะมีหน่วยงานที่สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต่างๆ ที่มีการวางจำหน่าย ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และทำการเตือนไปยังผู้บริโภค และมีการกำหนดมาตรฐานในการผลิตสินค้าดิจิทัลให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์อื่น ที่มีอยู่ในปัจจุบัน


ท้ายนี้อยากขอให้ท่านผู้อ่าน ได้กรุณาแชร์บทความนี้ไปยังหน่วยงานที่(อาจ)มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพวกเราในฐานะผู้บริโภคสินค้าดิจิทัลครับ


ขอให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ครับ