เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว ผลจากส่งออก-บริโภคในประเทศ

12 พ.ย. 2564 | 08:02 น.

เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว ผลจากส่งออก-บริโภคในประเทศ : คอลัมน์บทความ โดย งานวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,730 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน 2564

การใช้จ่ายในประเทศเดือนกันยายนเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการและสถานการณ์ COVID-19 ที่ปรับดีขึ้น โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนกันยายนขยับขึ้นจากเดือนก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน (+3.9%) จากความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัว ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยพยุงกำลังซื้อ 

เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน (+1.5%) ปรับดีขึ้นทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง 

ด้านมูลค่าการส่งออกเติบโตดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับการผลิต ของไทยที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ผลจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น หนุนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน (+6.6%) 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายนลดลงเหลือ 12,237 คน จากเดือนก่อน 15,105 คน

การระบาดที่รุนแรงของ COVID-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ฉุดเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปีกลับเข้าสู่แดนหดตัวอีกครั้งและเป็นจุดตํ่าสุดของปีนี้ โดยวิจัยกรุงศรีคาด GDP อาจหดตัวที่ -2.5% หรือ -1.1%

สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์การระบาดบรรเทาลง การฉีดวัคซีนมีมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาดผ่อนคลายลง 

 

ล่าสุดทางการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุด (แดงเข้ม) เหลือ 7 จังหวัด จาก 23 จังหวัด และผ่อนคลายให้สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และกรุงเทพฯ เพื่อรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้  

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากมาตรการรัฐที่อัดวงเงินมากขึ้น เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศในช่วงปลายปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ถ้วนทั่ว และยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวของไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าการท่องเที่ยวของโลกอยู่มาก (การสืบค้นข้อมูลเดือนตุลาคมใน Agoda,  TripAdvisor และ Expedia ชี้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 50% ของช่วงก่อนเกิด COVID-19 แต่ท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่ระดับตํ่าเพียง 25% ของช่วงก่อนเกิด COVID-19)

 

เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว ผลจากส่งออก-บริโภคในประเทศ

 

 

ส่งออกเดือนกันยายนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก การคลี่คลายของปัญหาภาคการผลิตในอาเซียน และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การส่งออกในเดือนกันยายนมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 23.0 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.1% เทียบกับ 8.9% ในเดือนก่อน และหากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับนํ้ามัน มูลค่าส่งออกเดือนนี้เติบโตน้อยลงเหลือ 12.9% 

สำหรับมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 760.6 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญขยายตัวดีในเดือนนี้ อาทิ ผลิตภัณฑ์เคมี (+55.8%) วัสดุก่อสร้าง (+37.3%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (+31.2%) จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น  

 

ขณะที่ภาวะชะงักงันของภาคการผลิตในอาเซียนเริ่มคลี่คลาย และการระบาดของ COVID-19 ที่บรรเทาลง หนุนให้สินค้าส่งออกอีกหลายรายการขยายตัว อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ (+16.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+11.2%) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (+2.8%) 

ขณะที่การส่งออกอาหารแปรรูปหดตัว เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ ส่วนตลาดส่งออกมีการเติบโตกระจายตัวในเกือบทุกตลาด 

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญเป็นผลจากปัจจัยทางด้านปริมาณการส่งออกที่สูงขึ้นมาก กว่าปัจจัยทางด้านราคาที่ปรับขึ้น บ่งชี้ถึงภาคการผลิตของไทยยังมีสัญญาณเชิงบวก 

โดยในระยะข้างหน้าวิจัยกรุงศรีคาดว่า การส่งออกของไทยในเชิงปริมาณจะยังเติบโตได้ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก การคลี่คลายของปัญหา Supply disruption ในอาเซียน และการทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ 

ล่าสุด WTO ปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปีนี้และปีหน้าขยายตัว 10.8% และ 4.7% (จากเดิมคาด 8.0% และ 4.0%) ตามลำดับ การส่งออกจึงนับเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์มูลค่าการส่งออกปี 2564 เติบโตที่ 13.5% บนฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ (และ 15% ฐานข้อมูลธปท.) 

อย่างไรก็ตาม หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และนํ้ามันดิบในตลาดโลกยัง ทรงตัวในระดับสูง อาจหนุนให้การส่งออกในปีนี้มีมูลค่าสูงกว่าที่คาดได้