จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (15)

18 ต.ค. 2564 | 02:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การเลือกหาช่องทางในการดำเนินธุรกิจค้าหยก และการซื้อ-ขายหยกของคุณสุวรรณีกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เธอจะมีเหมืองหยกเป็นของตนเองได้ เลือดตาแทบกระเซ็น เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้นำเอาวิธีการซื้อ-ขายหยกที่บนเหมืองหยกภูเขาปะกั่นมาเล่าให้ฟังไปแล้ว วันนี้อยากจะนำเอาการเลือกสรรหยกมาเล่าต่อนะครับ
 

คุณสุวรรณีได้เล่าให้ผมฟังว่า หยกแท้นั้นจะดูอย่างไร? เรื่องนี้อธิบายยากมาก เพราะหยกนั้นมีหลากหลายชนิต หลากหลายสีสัน ชื่อเรียกก็แตกต่างกันออกไปอีก ซึ่งหากจะอธิบายคงต้องใช้เวลาเยอะมาก อีกทั้งในเวปไซต์ต่างๆ รวมทั้งกูเกิลก็มีให้อ่านกันเยอะมาก แต่ถ้าจะอธิบายนิยามของหยกแท้หยกเทียมแบบง่ายๆ เข้าใจไม่ยากนัก คงต้องบอกว่าหยกแท้นั้นสามารถจำแนกออกได้ไม่มากชนิดครับ
 

ชนิดแรกเลยคือหยกเนื้อแก้ว หรือหยกใส หยกชนิดนี้จะมีเนื้อคล้ายมรกตแต่ไม่ใช่มรกต ถ้าเป็นหยกเนื้อแก้วแท้ๆ เนื้อจะแข็งมาก การแตกหักจะไม่ง่ายเหมือนหินคล้ายหยกชนิดอื่นๆ แต่ราคาจะแพงหูฉี่ บางครั้งหยกเนื้อแก้วใสไม่มีตำหนิเลย กำไลข้อมืออันเดียวราคาอาจจะกระโดดไปหลายสิบล้านบาทเลย ในขณะที่หยกเนื้อแก้วที่ใสแต่มีตำหนิเหมือนขนแมวในเนื้อหยก ราคาจะถูกลดหลั่นลงมามาก ดังนั้นการดูหยกราคายิ่งแพง ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบค่อนข้างจะนานเช่นกัน 
     

ต่อมาก็เป็นหยกเนื้อตัน หรือหยกสีเขียวเข้ม บางคนก็เรียกว่าหยกจักรพรรดิ์ กลุ่มนี้ราคาก็จะย่อมเยาลงมา กำไลข้อมืออันหนึ่ง ราคาอาจจะเหลือเพียงหลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่นปลายๆ ซึ่งก็จะต้องนำมาส่องดูให้ละเอียดเช่นกันครับ ส่วนใหญ่คนทั่วไปนิยมนำมาทำหัวแหวน หรือไม่ก็เป็นกำไลข้อมือ แต่ทั้งสองชนิดนี้ไม่ค่อยจะมีเนื้อที่ใสปิ๊งโดยไม่มีตำหนิและราคาถูกอย่างแน่นอน หากเห็นเนื้อใสราคาถูก ก็ขอให้สัญนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ของปลอมหรือหินที่มีความคล้ายคลึงหยก เพราะในโลกนี้ไม่มีของดีราคาถูกแน่นอน
 

อีกอย่างหนึ่งในการพิสูจน์ว่าเป็นหยกจริงหรือปลอม วิธีง่ายๆ ตอบแบบกำปั้นทุบดิบก็คือส่งไปพิสูจน์ที่สถาบันอัญมณี ที่ประเทศไทยเรามีอยู่หลายสถาบัน อาทิเช่น คณะอัญมณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, AIGS, GCI, AIT, GIA  เป็นต้น ท่านจะได้ทราบว่าเป็นของจริงหรือไม่ เพียงแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก แค่หลักพันไม่ถึงหมื่น ก็จะรู้ว่าจริงหรือปลอมแล้ว ยังมีหยกเนื้อสีต่างๆ อีกหลายสี บางสีก็เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน เช่น สีม่วง สีดำ สีขาวใส สีขาวน้ำนม เป็นต้น ดังนั้นถ้าพูดถึงสีและชื่อเรียก ก็จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เรื่องนี้คุณสุวรรณีบอกว่า ตัวเธอเองก็ยังสับสนอยู่มาก เพราะบางครั้งอยู่ในมือคนเมียนมา เขาเรียกอย่างหนึ่ง พอชาวจีนซื้อไป เขาก็เรียกอีกอย่างหนึ่ง เลยไม่รู้ว่าจะเรียกขานอย่างไรจึงจะถูกนั่นเอง 
 

ส่วนหินหรือพลอยที่คล้ายคลึงกับหยกมีอยู่ 5 ชนิดใหญ่ๆด้วยกัน คือ 1. พลอยฮาวไลท์ (Howlite) 2. พลอยเซอร์เพนทีน บางคนก็จะเรียกว่า เซอร์เพนไทร์ (Serpentine) 3. พลอยมาลาไคต์ (Malachite) 4. พลอยอาเวนเจอรีน (Aventurine) 5. พลอยอาเกต (Agate) หรือที่ไต้หวันเรียกว่า “หมาด่าว” แต่ถ้าหากท่านจะถูกพ่อค้าหลอกขายของปลอมให้ มักจะหนีไม่พ้นหินที่มีลักษณะคล้ายหยกประเภทใดประเภทหนึ่งใน 5 ประเภทที่กล่าวมานี้นั่นเอง 
        

นอกจากนี้ยังมีพลาสติกที่เอามาทำให้เหมือนหยกแล้วนำมาหลอกขาย และการเอาหินหยกจริงๆ แต่สีสันไม่สวย ก็ไปย้อมสีแล้วจึงนำมาขาย ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งเช่นกันครับ รายละเอียดต่างๆ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในตอนต่อๆ ไปทีละชนิดนะครับ เพราะถ้าขืนเล่าในตอนนี้ทั้งหมด เรื่องราวชีวิตของคุณสุวรรณีคงจะไม่จบเสียทีนะครับ เอาเป็นว่าติดไว้ก่อนนะครับ
 

หลังจากที่ขึ้นไปศึกษาเรื่องการขุดหยกแล้ว ลงจากเขากลับมาถึงบ้าน ครอบครัวก็เริ่มที่จะปรึกษากันอย่างจริงจัง ว่าจะเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจการขุดก้อนหินหยกเลยหรือไม่ ซึ่งคุณสุวรรณีเล่าว่า เธอยังคงยืนยันว่า หากจะเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เธอพร้อมที่จะหาเม็ดเงินมาลงทุนให้เอง โดยครอบครัวของสามีไม่ต้องกังวลเรื่องของเงินทุน แต่ทางสามีและครอบครัว กลับเห็นว่า ควรจะเริ่มจากการลองหาซื้อก้อนหินหยกก่อน เพื่อเป็นการเลี่ยงความเสี่ยงที่จะตามมา เพราะการที่จะลงไปขุดเองนั้น หากจะเข้าไปแย่งกลุ่มคนงานขุด ก็ยากที่จะทันแรงงานที่เขาทำมานานได้ สิ่งที่จะทำควรจะเป็นการขอสัมปทานจากทางรัฐบาลโดยตรง ถึงจะทำได้ ดังนั้นควรจะเริ่มจากค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า สุดท้ายคุณสุวรรณีจึงต้องตามใจสามีและครอบครัว
 

การเริ่มจากหาซื้อก้อนหินหยกก็ยังมีปัญหาอีกว่า จะซื้อมาเป็นก้อนหินดิบๆ แล้วขายออกเป็นก้อนหินดิบๆ เลย โดยอาศัยการกำไรส่วนต่างเท่านั้น หรือว่าซื้อก้อนหินดิบแล้วนำมาผ่าเอง โดยต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของหลานชาย อย่างไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งความเห็นก็แตกต่างกันออกไป แต่คุณสุวรรณี ก็ลงทุนไปหาซื้อเครื่องผ่าหินเตรียมไว้ก่อนเลย เพราะเธอเชื่อว่า การที่จะมีกำไร ย่อมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ได้ หากไม่เสี่ยงก็อย่าหวังเลยว่าจะได้กำไรเม็ดงาม ดังนั้นเธอจึงไม่ยอมที่จะรีรอ เธอรีบหาซื้อเครื่องผ่าหินไว้ก่อนเลย เพราะสักวันก็จะต้องใช้เครื่องมือให้คุ้มค่าอย่างแน่นอน จากนั้นก็เริ่มเดินทางเข้าไปหาซื้อก้อนหินหยกเลยครับ การเริ่มต้นของอาชีพนี้ได้เริ่มโดยไม่ต้องหาฤกษ์ดูยามแล้วครับ
 

อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงการลงลึกในชั้นเชิงการซื้อขายของพ่อค้าหยกให้อ่านเล่นนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ