เปิดๆ ปิดๆ ประเทศ พึงระวังต้องได้มากกว่าเสีย

15 ต.ค. 2564 | 08:04 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกถ้อยแถลง ผ่านสถานีโทรทัศน์ ประกาศไทม์ไลน์ในการเปิดประเทศ 1 พ.ย. เปิดให้มีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่ำ 10 ประเทศ ฉีดวัคซีนครบโดส เป็นลำดับแรกก่อน โดยไม่ต้องมีการกักตัวและสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆได้ทั่วประเทศ ก่อนที่ขยายเพิ่มจำนวนประเทศมากขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค.และเปิดเต็มที่ในวันที่ 1ม.ค.65
 

การประกาศไทม์ไลน์ เปิดประเทศแม้จะยังมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเกินหลักหมื่นคนต่อวัน ประกอบกับการฉีดวัคซีนยังไม่ได้ตามเป้าหมายหรือมาตรฐาน 70 % ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทยหรือมีภูมิต้านทานที่เพียงพอในการลดการเสียชีวิตหากติดเชื้อ แต่รัฐบาลคงประเมินอย่างรอบคอบแล้วกับระยะเวลาที่เหลือก่อนถึงวันที่ 1 พ.ย.ที่จะระดมฉีดวัคซีนให้มีจำนวนมากที่สุด

แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ปากท้องเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ต้องตัดสินใจเปิดประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีเต็ม ที่ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว การบิน โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บางรายสายป่านไม่ยาวพอ ไม่สามารถแบกรับไหวต้องถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้ค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย แท็กซี่
 

การเปิดประเทศตามลำดับ เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาทองไฮซีซั่น ก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ เป็นถ้อยแถลงสำคัญ ที่นายกรัฐมนตรีประเมินว่า ประชาชนไม่สามารถรับได้ หากต้องสูญเสียเวลาและโอกาสทำมาหากินช่วงเวลานี้ 2 ปีติดต่อกันและที่สำคัญประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ที่เป็นหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ก็ประกาศเปิดประเทศไปแล้วเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่อย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้การเปิดประเทศเผชิญความเสี่ยงที่ต้องกลับไปปิดอีกครั้ง หรือ ให้การเปิดประเทศเป็นอานิสงส์ในทางเศรษฐกิจตามเป้าหมาย และเป็นแรงส่งสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 รัฐบาลต้องระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก ลงลึกในระดับพื้นที่ ทั้งจำนวน ร.พ. จำนวนวัคซีนที่ฉีดแล้ว จำนวนคนติดเชื้อในพื้นที่ติดเชื้อใหม่ แม้กระทั่งการรณรงค์มาตรการควบคุมโรคพื้นฐาน ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง เลี่ยงเข้าพื้นที่แออัดหรือไม่อยู่นานเกินไปในสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อ
 

นอกจากนี้ต้องประเมินสถานการณ์ ประเมินพื้นที่อย่างเข้มข้นตลอดเวลา พร้อมกับมีศูนย์ปฏิบัติการที่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีในการควบคุมและป้องกันโรค ต้องระวังอย่างแข็งขัน


การกลับมาเปิดใหม่ของธุรกิจต้องใช้แรงงานและเงินลงทุนรอบใหม่ ที่ไม่อาจสูญเสียได้อีก เพราะธุรกิจบางราย อาจเป็นเงินก้อนสุดท้าย ที่ควักกระเป๋ามาลงทุน หากเปิดไปแล้ว กลับมาปิดใหม่อีกรอบ จะมีแต่เสียไม่คุ้มได้