อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS

05 พ.ค. 2566 | 03:13 น.

 อีสานตอนบนเตรียมรับคลื่นนักท่องเที่ยวจีน ที่ทะลักจากนั่งรถไฟมาเวียงจันทน์ กมธ.ท่องเที่ยว วุฒิสภา จัดเวทีระดมสมองที่อุดรธานี ปลุกทุกภาคส่วนพร้อมรองรับ


 รถไฟจีน-ลาวเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารข้ามแดนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2566 ปลุกบรรยากาศการเดินทางทั้งการค้าการลงทุนและท่องเที่ยว ในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงกับจีนตอนใต้ให้คึกคักยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คาดหวังว่า นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่ง จะเดินทางต่อเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงเตรียมความพร้อมรองรับกันแล้ว

จากโอกาสทางเศรษฐกิจดังกล่าว เมื่อ 25 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ โรงแรม MOCO บูติคโฮเท็ล อ.เมืองอุดรธานี คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว โดยพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธาน การสัมมนาหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์”

อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS

 

อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS โดยมีนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดในประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเที่ยวจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในภูมิภาค จำนวน 120 เข้าร่วมสัมมนา

ที่ประชุมเห็นพ้องว่า การเปิดบริการรถไฟจีน-ลาว ขนส่งคนเดินทางเชื่อมเมืองคุนหมิงกับเวียงจันทน์นี้ จะช่วยส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว โดยมีระยะเวลาในการเดินทาง จากมณฑลยูนนานมายังจังหวัดหนองคายของไทย จากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน เหลือไม่เกิน 15 ชั่วโมง และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า มีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า

อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS

อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่คาดการว่าในอนาคต จะเดินทางมากับขบวนรถไฟความเร็วสูง สายคุนหมิง-เวียงจันทน์ เพิ่มขึ้น โดยมีการเตรียมพร้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งในภาคการท่องเที่ยว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตามวิสัยทัศน์แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ว่า “เข้มแข็งจากภายใน ฟื้นตัวอย่างมีความรอบคอบ จุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของภูมิภาค”

ในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไทยมีทางเลือก ในการเดินทางออกไปท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงได้มากขึ้น รวมไปถึงประเทศจีนตอนใต้ด้วย เป็นกลยุทธ์เสริมสร้างความเข้มแข็งในภาคการท่องเที่ยวแห่งชาติอีกทางหนึ่ง

อีสานเหนือตื่นรับรถไฟจีน-ลาวบูมท่องเที่ยว GMS

ดร.พรเทพ ศักดิ์สุจริต รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้ประกอบการในพื้นที่ เปิดเผยว่า การมาจัดเวทีสัมมนาหัวข้อดังกล่าวของคณะกมธ.การท่องเที่ยว วุฒิสภา เป็นการเปิดพื้นที่จุดประเด็นการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุนจีน ที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้าในพื้นที่ของภาคอีสาน จากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ประกอบกับทางการจีนอนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้แล้ว

การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีนในปัจจุบัน กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของทั้งโลก คนจีนมีความคิดว่าในชีวิตต้องเดินทางไปต่างประเทศสักครั้ง ฉะนั้นสถานที่ท่องเที่ยว หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ควรที่ต้องมีความพร้อม สามารถเข้าถึงได้รวดเร็ว

ดร.พรเทพกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่อุดรธานีและภาคอีสาน ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก 
แต่ก็มีการท่องเที่ยวหลากหลายมิติ ทั้งเชิงธรรมะ ทางธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมประจำถิ่นที่สวยงาม ที่สำคัญมีต้นทุนการท่องเที่ยวตํ่ากว่าทุกภาค ถือว่าเป็นจุดเด่น

ฉะนั้น ทุกภาคส่วนของอุดรธานี และพื้นที่อีสานตอนบน ต้องหาปราชญ์ผู้รู้เรื่องราวตำนานความเป็นมา จะต้องช่วยกันดึงเรื่องราวของพื้นที่ พัฒนาขึ้นมาเป็นจุดขายสร้างแรงดึงดูดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น เรื่องราวทะเลบัวแดง ภูเขา ถํ้า หรือนํ้าตกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ความเชื่อถือศรัทธา ที่เรียกกันว่าสาย“มูเตลู” ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มที่จะหันมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้สูงวัย ก็จำเป็นที่ต้องสร้างสิ่งจูงใจให้มากๆ ขึ้นเช่นกัน
 

“นักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมากับรถไฟจีน-ลาว จะเป็นนักท่องเที่ยวในระดับกลางๆ และส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานส่งเสริมจัดซื้อโปรแกรมทัวร์ให้เดินทางออกนอกประเทศ ฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าว และพัฒนาระบบบริการรองรับเป็นกรณีพิเศษ” ดร.พรเทพกล่าวส่งท้าย

 

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ.2566