อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

26 ธ.ค. 2565 | 12:45 น.

“ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว นายทะเบียนชาวนาอาสา คนใหม่ คิกออฟ มี.ค. 66 ปลูกข้าวโซนนิ่ง ดึงโรงสีรับซื้อ เล็งตั้ง “องค์กรข้าวแห่งประเทศไทย” ผุดไซโลข้าว 10 ล้านตัน เกษตรกรมีส่วนร่วมดึงข้าวออกจากระบบ ยกระดับราคาข้าวโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนปีละแสนล้าน

นโยบายแผนการผลิตข้าวครบวงจร ในปี 2566 “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว  ถ่ายทอดเรื่องราวแผนการปลูกข้าวระบบโซนนิ่ง โดยใช้ชาวนาอาสา และ "ศูนย์ข้าวชุมชน"  ในชื่อใหม่ "ศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร" จะมาเชื่อมกันได้อย่างไร ช่วยพลิกชะตาชาวนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้น  โดยที่รัฐไม่ต้องใช้เงินอุดหนุน

 

โอน “ชาวนาอาสา” โยกมาอยู่กรมการข้าว

 

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมการข้าว (คลิกอ่าน) เรื่องมอบหมายหน้าที่ให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่แทนนายทะเบียนอาสาสมัครเกษตร ให้เป็นนายทะเบียนในการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครเกษตร ประเภท “ชาวนาอาสา” จะโอนมาเป็นของกรมการข้าวทั้งหมด แล้วต่อไปจะรวบการขึ้นทะเบียนการทำนาทั้งหมดเอามาไว้ที่กรมการข้าว ซึ่งเป็นแผนต่อไป แล้วตอนนี้ได้ทำโปรแกรมทั้งหมดรองรับไว้แล้ว จากงบประมาณ 99 ล้านบาท

 

โลโก้ใหม่

 

“ส่วน “โลโก้” ศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร รีแบรนด์ใหม่ จาก  ศูนย์ข้าวชุมชน  (ชื่อเดิม) ต่อไปนี้เกษตรกรทุกคนจะต้องมาขึ้นทะเบียนผ่านศูนย์นี้ทั้งหมด โดยศูนย์นี้จะมาลิงค์ที่กรมการข้าว เราจะรู้ทันทีว่าฝนตกน้ำท่วม ฝนแล้งที่ไหน เป็นงานของเราทั้งหมด ผมซุ่มทำงานมาเป็นระยะเวลานานแล้วเพราะทราบปัญหาว่ากรมส่งเสริมการเกษตรไม่มีงบประมาณ ซึ่งก็เช่นเดียวกับกรมการข้าวก็ไม่มีบุคลากรด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องใช้อาสาสมัครของเรา”

 

 

 

โดยจะเติมเงินไปที่อาสาสมัคร หมู่บ้านละ 3 คน โดยจะใช้ระเบียบของกระทรวงจ้างเป็นนายทะเบียนอาสาข้าวชุมชน ตรงนี้กรมการข้าวมีนโยบายไม่ว่าจะเป็นพืชหลังนา เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เราสามารถใช้เจ้าหน้าที่จิตอาสาก็คือประธานศูนย์บริหารจัดการข้าวระดับตำบล ในศูนย์นี้จะให้เกษตรกรมาลงทะเบียน มีระบบบันทึกข้อมูล

 

อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

เชื่อมข้อมูลจากส่วนตำบล มาส่งที่ส่วนอำเภอ แล้วก็ส่งมาให้ศูนย์แต่ละศูนย์ที่รับผิดชอบจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมายอมรับว่าโดนด่ามาก ก็เลยคิดออก ต่อไปนี้ก็สามารถสั่งงานจิตอาสาได้ โดยไม่ต้องสั่งเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 6,569 ตำบล โดยจะพยายามจัดสรรงบลงไปช่วยสนับสนุนเพื่อให้ไปสามารถบริหารจัดการข้าวได้ภายในตำบลของตัวเองที่รับผิดชอบ ยึดหลักว่า “ชุมชนต้องแก้ปัญหาชุมชน เพียงแค่เรามีหน้าที่ประคับประคองตามนโยบายของกรม”

 

จัดโซนนิ่งปลูกข้าว

 

ส่วนกระทรวงการข้าว ที่ผ่านวาระ 3 แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องยากต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร วันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกระทรวงการข้าว เปลืองงบประมาณ เพราะเรามีกรมการข้าวก็สามารถบริหารจัดการข้าวในชุมชนได้ทั้งหมด จะสามารถทำโซนนิ่งได้ทีเดียว โดยช่วงแรกกรมการข้าวก็คอยที่จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้ศูนย์พวกนี้ผลิตกระจายเมล็ดพันธุ์ไป อาทิ ตำบล ก ให้ผลิตเฉพาะกข79  โดยจะกำหนดเป็นตำบล บังคับปลูกแบบโซนนิ่งไปในตัวเลย เราต้องอาศัยชุมชนเป็นคนขับเคลื่อน เพราะอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ทำตามหรอก ดังนั้นต้องอาศัยชุมชนในการขับเคลื่อน

 

หากมาคำนวณจิตอาสา จะมีคนในหมู่บ้าน ละ 3 คน ซึ่งจะทำให้กรมการข้าวจิตอาสาที่เกี่ยวกับข้าว ไม่น้อยกว่า 2.1 แสนราย ทั่วประเทศ ทำไปแล้วกว่า 3,000 ตำบล เหลือประมาณอีก กว่า 3,659 ตำบล ในวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ จากการเดินนโยบายตรงนี้ทำให้ชาวนาไม่ต้องมาใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ เพราะจะจัดเทคโนโลยีให้ชุมชนตามความต้องการ

 

 

อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

"แล้วแผนต่อไปในชุมชนนั้นๆ จะมีไซโล โดยผมเองต้องการดึงข้าวออกมาจากระบบไม่ต้องผ่านโรงสี จำนวน 10 ล้านตัน จะทำให้ราคาข้าวขยับขึ้นแล้ว แล้วผมก็จะมาดูแลอุดหนุนพืชหลังนา เพื่อให้ลดการทำนาปรังลง ก็จะทำให้ราคาข้าวดีดขึ้น ในส่วนของชาวนาที่มีน้ำเพียงพอในการปลูกข้าว ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พ่วงงบอุดหนุนเพื่อใช้เป็นตัวล่อให้ออกจากการทำนาก่อน"

 

 

อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

ซึ่งจากการทำงานในลักษณะอย่างนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งบอุดหนุนแสนล้าน แต่ใช้เงินแค่หลักหมื่นล้านต้นๆ เท่านั้นก็จะทำให้ความมั่นคงเกิดขึ้น แล้วเกษตรกรชาวนาที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะในอีก 4-5 ปีข้างหน้า การขายข้าวคาร์บอนเครดิตก็จะได้ด้วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไป ข้าวก็จะขายไม่ได้ เพราะถ้าข้าราชการไปเปลี่ยน บอกไม่ได้ ต้องอาศัย “ชาวนาบอกชาวนา” ถึงจะเชื่อกัน”

 

กันงบ 35 ล้าน บริหารศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร

 

“ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นอธิบดีขึ้นมาผมทราบปัญหาในการของบประมาณ ดังนั้นในการทำงานจึงค่อยๆ ทำทีละขั้นตอน ตอนนี้เริ่มที่จะรวบทั้งประเทศ ซึ่งก็ประกาศแล้วที่จะให้กรมการข้าวเป็นนายทะเบียน วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว หากจำกันได้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท   จากกรอบวงเงินเดิม 15,260 ล้านบาท (คลิกอ่าน) ได้โอนให้ ธ.ก.ส.ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15  พฤศจิกายน 2565 ยังคงเหลือไว้ในการบริหารจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะเลย จำนวน  35 ล้าน บาท”

 

 

ทั้งนี้โดย ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2565 จะรวมคนไม่ต่ำกว่า 7,000 คน ผู้นำทั้งประเทศ ในเรื่องศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งมาใช้ในชื่อใหม่ “ศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร” จะประชุม โดยจะเริ่มโครงการข้าวนาปี เป็นครั้งแรก แล้วจะนำงบมาเพิ่มเติมอีก 99 ล้านบาท มาทำระบบทั้งประเทศ

 

 

ตั้งไข่ “องค์กรข้าวแห่งประเทศไทย”

 

ก็ยอมรับว่าแอบซุ่มทำ แม้กระทั่งรองอธิบดีก็ยังไม่ทราบเรื่องเลย ผมทำงานแค่ไม่กี่คน ผมจะแก้ปัญหาในเรื่องข้าว ไม่ใช่ข้าราชการจะแก้ปัญหาเราจะต้องใช้ประชาชน หรือผู้นำชุมชนที่มีความรู้ในเรื่องข้าวไปแก้ปัญหาชุมชนเอง โดยจะวางโซนนิ่งจะปลูกข้าวพันธุ์ไหน แล้วตอนนี้ตลาดโรงสีก็มาอยู่กับกรมการข้าวแล้ว ซึ่งในอนาคตจะทำไซโลขึ้นมา เป็นเฟส2  โดยจะดึงข้าวออกจากระบบ 30 ล้านตันข้าวเปลือก หลังจากที่ทำไซโลเสร็จ ก็จะมีโรงสีเข้ามาแล้ว ก็จะตั้งองค์กรหนึ่ง ก็คือ “องค์กรข้าวแห่งประเทศไทย” เป็นองค์กรวิสาหกิจชุมชนที่มาบริหารจัดการในเรื่องข้าวโดยเฉพาะ ซึ่ง กว่า 6,000 ศูนย์จะขึ้นตรงกับองค์กรนี้เลย เป็นรัฐวิสาหกิจ

 

อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

หลังจากนั้นแล้วกรมการข้าวจะมาดูในเรื่องต้นน้ำอย่างเดียว แล้วองค์กรนี้เกษตรกรจะไม่ได้จับเงิน เพียงแต่นำข้าวเข้ามา คนที่จะจ่ายเงินก็คือ ธ.ก.ส. คนที่จะเฝ้าข้าวให้ก็คือ เกษตรกร แล้วก็คิดค่าบริหารจัดการในไซโลของตัวเอง มองว่าแค่ดึงข้าวออกจากระบบแค่ 10 ล้านตันก็พอแล้ว กรมการข้าวเพียงแค่สนับสนุน เติมเต็มให้ราคาก็ขยับไม่จำเป็นที่จะต้องไปใช้เงินอุดหนุนชาวนามากนัก ปล่อยตามกลไกตลาด

 

"พื้นที่น้ำท่วม" ดึงบางระกำโมเดลปลูกข้าว

 

 

ส่วนในเรื่องพื้นที่น้ำท่วม ก็ไม่กลัวก็จะกำหนดโซนปลูกข้าวคล้ายกับบางระกำโมเดลขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา ส่วนฝนแล้ง ก็จะทำในเรื่องของระบบชลประทาน ช่วยทำระบบกระจายน้ำทางท่อด้วยพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ตามลุ่มน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำโขง  ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อกระจายน้ำลงไปสู่แปลงนาข้าวที่นอกเขตชลประทาน

 

ตอนนี้ต้องประคบประหงม ไปก่อน ต่อไปอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็ปล่อย ถ้าเรื่องนี้ชุมชนไม่บริหารจัดการกันเอง รัฐไปยุ่งเกี่ยวทุกเรื่องจะไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดคอรัปชั่น ชุมชนต้องบริหารชุมชนก็จะทำให้เกิดความยั่งยืน ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าเราจะสร้างความยั่งยืน อยากทำโซนนิ่ง ต้องทำตามผม ช่วงแรกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ศูนย์ไหนอยากได้อะไรก็ให้ไป ชุมชนบริหารจัดการชุมชน

 

อธิบดีกรมการข้าว ร่ายแผนปี 66 ทำแผนข้าวครบวงจร เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

ต่อไปจะเกิดการหมุนเวียนในชุมชนเราเพียงคอยเติมให้ ต่อไปก็จะบริหารจัดการได้เอง ชุมชนบริหารชุมชนเองเราก็เติมนวัตกรรมให้ไปเรื่อยๆ กรมการข้าวไม่จำเป็นต้องมีคนเป็นหมื่นคนที่เป็นข้าราชการ กรมการข้าวมีแค่ 900 คน แต่ใช้สมองทำงาน เราเอาเทคโนโลยีมาจับ สามารถดูข้อมูลผ่านดาวเทียมสามารถมอนิเตอร์ได้หมดสามารถคุยกับศูนย์ข้าวชุมชนในตำบล หรือ อำเภอนั้นๆ ได้เลย ถ้าจะปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืนชุมชนต้องบริหารชุมชน ต้องเป็นผู้จัดการชุมชนของตัวเองแล้วจะเกิดความสำเร็จ

 

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดทะเบียนเกษตรอาสา (คลิกอ่าน)