“ชัชชาติ” คาดกทม.แบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่วม 8.5 หมื่นล้าน

20 ธ.ค. 2565 | 03:57 น.

“ชัชชาติ” เผย กทม.เตรียมแบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่วม 8.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 73-84 หลังผู้บริหารคนเก่าทำสัญญาว่าจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าล่วงหน้า หวั่นขาดทุน 7 พันล้านบาทต่อปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายในงาน 3 มุมมองของผู้บริหารองค์กร ในหัวข้อ ‘ความยั่งยืน 3 มุมมอง... SURVIVE or SUSTAIN’ ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า สำหรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ จะสิ้นสุดลงในปี 2572 และกลับมาเป็นของ กทม. ในปี 2573 แต่เนื่องจากในปี 2555 ผู้บริหาร กทม.ในอดีต ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าล่วงหน้า โดยทำสัญญาจ้างเดินรถตั้งแต่ปี 2573-2585 เมื่อรวมกับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง จ้างเอกชนเดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585 และค่าจ้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ จ้างเอกชนเดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585 แล้ว

 

ทั้งนี้จากประมาณการณ์ของ กทม. พบว่า ระหว่างปี 2573-2584 กทม.จะมีภาระค่าจ้างเดิน (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 3 ส่วน คือ ส่วนหลัก ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมแล้ว 2.39 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งคิดจากค่าเฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว และมีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ย 3% ต่อปี จะอยู่ที่ 1.53 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า กทม.ขาดทุนจากการเดินรถรวม 8.57 หมื่นล้านบาท ในช่วง 12 ปี หรือขาดทุนประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท
 

“ในปี 2573-2584 เราจะจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวทั้งระบบ 239,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้าน แต่กทม. คาดว่าจะเก็บรายได้ค่าตั๋วได้เฉลี่ย 30 บาทต่อเที่ยว และมีผู้โดยสารเติบโตปีละ 3% หรือเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนต่อปี หรือทำให้เราจะเก็บค่าโดยสารได้ 153,300 ล้านบาท ดังนั้น เราจึงขาดทุน 8.5 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท หากเก็บค่าโดยสารให้มากกว่า 30 บาทต่อเที่ยว เพื่อให้ครอบคลุมค่าจ้างทั้งหมด ผู้โดยสารก็ลดลง” นายชัชชาติ กล่าว

“ชัชชาติ” คาดกทม.แบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่วม 8.5 หมื่นล้าน

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่มีใครผิด และไม่มีใครถูก เพราะเป็นสัญญาที่ทำกันมาแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องการสะท้อน คือ นี่เป็นสัญญาในอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนผลขาดทุนจากการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวปีละ 7,000 ล้านบาทดังกล่าว ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับงบด้านสาธารณสุขของ กทม. ปีล่าสุด ซึ่งได้รับจัดสรรงบที่ 6,600 ล้านบาท หรืองบจัดซื้ออาหารเด็กนักเรียนที่ได้รับจัดสรรงบ 3,600 ล้านบาท
 

“ถามว่าทำอะไรได้ไหม ก็ตอบว่ายาก เพราะสัญญาทำมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ว่า ว่าใครถูกใครผิด แต่ต้องมาแถลงให้พวกเราที่เป็นเจ้าของรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะเป็นเงินภาษีที่เราทุกคนต้องร่วมกันจ่าย” นายชัชชาติ กล่าว

 

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า การบริหาร กทม. หรือประเทศให้อยู่รอดนั้น ความโปร่งใสสำคัญที่สุด อย่าเพิ่งไปพูดเรื่อง SDG (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) หรือเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพราะสำหรับประเทศชาติแล้วเอาความโปร่งใสก่อนเลย ส่วนเอกชนก็ทำ SDG ไป และต้องยอมรับความจริงว่า เรามีปัญตรงนี้ ถ้าไม่โปร่งก็ยากจะยั่งยืน ถ้าไม่ยั่งยืนก็ไม่มีทางอยู่รอด และจะอย่างไรให้ไม่เอาทรัพยากรของอนาคตมาใช้ เพื่อให้เด็กมีสิทธิเลือกอนาคตของตัวเอง