“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

16 พ.ย. 2565 | 08:15 น.

“ไทยลีฟฯ” เปิดกรณีศึกษา ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ "อเมริกา-ยุโรป" ชี้ภาครัฐตัวแปรหลักต้องชัดเจนตรงไหนทำได้-ไม่ได้ ชี้ไทยชาติแรกในอาเซียนเปิดเสรีตลาดกัญชง สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ นับถอยหลังเปิด รง.ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชงทางการแพทย์และสุขภาพที่นครนายก

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

 

 “กัญชง” อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หากใครได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนทางฝั่งอเมริกา หรือฝั่งยุโรปจะเห็นว่า ตลาดกัญชงในแถบดังกล่าวเดินหน้าไปหลายก้าวแล้ว ดังนั้นเพื่อให้คนไทยได้เห็นภาพตลาดกัญชงที่ชัดเจนขึ้นว่าต่างประเทศที่มีการปลูกและใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย

 

รูปแบบนั้นมีแนวทางอย่างไร และประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์ในช่วงที่อุตสาหกรรมนี้ กำลังเริ่มต้นในภูมิภาคในทิศทางไหน นายยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ได้พาไปดูกรณีศึกษา และข้อมูลสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงการใช้กัญชงได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

 

นายยิ่งยศ  จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี

 

  • ตลาดกัญชงต่างประเทศ กับหลากหลายการต่อยอดสารสกัด CBD

นายยิ่งยศ เล่าว่า ไทยลีฟฯ มีพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบริษัทลงทุนในธุรกิจกัญชง กัญชาในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายพื้นที่ในอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการทำผลิตภัณฑ์กัญชงหลายรูปแบบ อาทิ ยา อาหารเสริม เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ หรือโครงรถยนต์ก็มีการใช้เส้นใยจากกัญชงมาเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต

 

ขณะเดียวกันขยับไปดูหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย พบว่า มีการนำกัญชงมาทำผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์อาหาร รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยา และเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ณ เมืองมิลาน เผยว่า เกษตรกรชาวอิตาลีมีการจำหน่ายส่วนประกอบต่าง ๆ ของกัญชง โดยช่อดอก ที่นำมาสกัดสาร CBD จะได้รับความนิยมมากที่สุด รองมาเป็นลำต้น และเมล็ด

 

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

 

หากสำรวจข้อมูลการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในต่างประเทศให้ลึกขึ้น จะพบว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์นานาชนิดอย่างแพร่หลาย  โดยสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่ก้าวทันต่อกระแสกัญชง และมีองค์กรด้านการศึกษาที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกัญชงมานานกว่า 30 ปี เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เป็นพันธมิตรกับไทยลีฟฯ ปัจจุบันสหรัฐฯเปิดเสรีตลาดกัญชงมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงที่เน้นเรื่องการนอนหลับเป็นหลัก รองมาคือ กลุ่มอาหาร เช่น อาหารที่ใช้โปรตีนของกัญชง อาหารทานเล่น และกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เครื่องดื่มผสมวิตามิน เป็นต้น

 

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

 

อย่างไรก็ตามยังมีบางรัฐที่ยังไม่ได้ลบกัญชงออกจากบัญชีสารผิดกฏหมายจึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายในแต่ละรัฐอย่างละเอียด ส่วนในแคนาดา มีการนำสารสกัด CBD มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องสำอาง สำหรับดูแลเรื่อง Anti-Aging ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพตามวัย เช่น คลีนเซอร์ โทนเนอร์ เซรั่ม โลชั่น ครีมกันแดด เป็นต้น

 

ขณะที่ประเทศในโซนยุโรป อย่างอิตาลี เป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องกัญชงทั้งการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชง หลังจากประกาศกฏหมายการเพาะปลูกและจำหน่ายกัญชงเสรีเมื่อปี พ.ศ.2559 ปัจจุบันมีทั้งร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชง ธุรกิจด้านการเกษตรกัญชง ธุรกิจแปรรูป และกระจายผลิตภัณฑ์กัญชง ทำให้เกิดห่วงโซ่การสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าหมื่นราย

 

ส่วนเนเธอร์แลนด์ ปลูกกัญชงเพื่อการส่งออกเป็นหลัก มีตลาดส่งออกสำคัญอย่าง เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แต่ก็มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในประเทศด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริม และเนเธอร์แลนด์ยังมีข้อกำหนดกฏหมายชัดเจนว่า ผู้ผลิตจะต้องส่งกัญชงที่ปลูกในเนเธอร์แลนด์ไปสกัดสาร CBD ในต่างประเทศ แล้วจึงสามารถนำกลับมาจำหน่ายในประเทศได้ เพื่อป้องกันการผลิตยาเสพติดที่ร้ายแรง ส่วนเยอรมนี มีแผนจะเปิดเสรีตลาดกัญชง และนำสารสกัด CBD เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ในปี 2566 

 

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

 

ย้อนมาแถบเอเชีย ปัจจุบันไทยเป็นประเทศแรกที่มีการเปิดเสรีตลาดกัญชง และมีการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสุขภาพ คือ ไทยลีฟฯ

 

  • ภาครัฐตัวแปรหลักหนุนกัญชง สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิต  

นายยิ่งยศ กล่าวอีกว่า จากตัวอย่างที่หลาย ๆ ประเทศ มีการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชง ภาครัฐของแต่ละประเทศถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนและควบคุมดูแลการใช้กัญชงเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ โดยหลักการการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสารสกัด CBD เหมือนกันทั่วโลกคือต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุมดูแลในการออกผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพในการยื่นขอจดทะเบียนก่อนวางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค

 

ในต่างประเทศจะมี Food and Drug Administration (FDA) ส่วนในไทย หน่วยงานที่ควบคุมกฎระเบียบในส่วนนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ และออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร ยา และเครื่องสำอางสำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน ควบคู่กับการให้ข้อมูลด้วยว่า สารสกัด CBD จากกัญชงมีประโยชน์อย่างไร ปริมาณสารที่ใช้ได้ควรอยู่ที่ระดับเท่าไร และกำหนดสิ่งที่ทำได้-ทำไม่ได้อย่างชัดเจน  

 

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาอเมริกา-ยุโรป ตัวอย่างไทยลุย “เสรีกัญชง”

 

  • กรณีศึกษาโลกสู่ประเทศไทย

นายยิ่งยศ กล่าวว่า ไทยลีฟฯ มีการศึกษาการทำธุรกิจกัญชงจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งในต่างประเทศ โดยแผนธุรกิจมุ่งเน้นการทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฏหมาย และราคาจับต้องได้ เพื่อมอบให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การคืนประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน
 

ทั้งนี้หลังจากไทยลีฟฯ ได้เข้าไปดำเนินการปลูกกัญชงและสร้างโรงงานกัญชงที่ จังหวัดนครนายก ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยไทยลีฟมีการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์การทำธุรกิจกัญชงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อวงการเฮลท์แคร์ มิใช่เพื่อสันทนาการผิดกฎหมาย

 

หลังจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครนายก ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ปลัดจังหวัด รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับทราบข้อมูลทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ เนื่องจากการตั้งโรงงานกัญชงของไทยลีฟฯที่นครนายก จะเป็นการช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เจริญขึ้น และยังเปิดช่องทางสร้างโอกาสพัฒนาคนในชุมชนให้มาทำงานกับไทยลีฟฯ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างได้รายได้จากการปลูกกัญชงอย่างยั่งยืน