คิดยังไง ทำไมต้องสร้างอวตาร “The New Me” เป็น ‘ฉันคนใหม่’ ในโลกเสมือนจริง

13 พ.ย. 2565 | 01:50 น.

จักรวาลนฤมิต แม้ว่าจะนำเสนอทางเลือกการสร้างตัวตนในแบบที่อยากจะเป็นในร่างอวตาร (Avatar) หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “ฉันคนใหม่” ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ได้ตามใจชอบ

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า จักรวาลนฤมิตยังไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ให้ร่างอวตารปลอดจากการถูกเลือกปฏิบัติในโลกเสมือนจริง


ออสการ์ ไวลด์ กวีชาวไอริช เคยกล่าวว่า “จงเป็นตัวเอง เพราะคนอื่นมีคนเป็นไปหมดแล้ว”

 

คำพูดนี้ ดูจะใช้ได้ดีกับแอนโธรี ลอฟเฟรโด หนุ่มฝรั่งเศสฉายา “เอเลี่ยนดำ” ชายที่โด่งดังจากการเปลี่ยนรูป ลักษณ์ตนเองให้ไม่เหมือนคนอื่นใดในโลก โดยสักสีดำทั่วทั้งตัว ผ่าลิ้นเป็นสองแฉก ฝังโลหะทำเป็น  เขาบนศีรษะ ตัดแต่งนิ้วมือจนดูคล้ายกรงเล็บ รวมทั้งยังตัดปลายจมูกและริมฝีปากบนเพื่อให้ดูเหมือน เอเลี่ยน อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากกลับชื่นชอบในการพยายามเป็นให้เหมือนคนอื่น เช่น วาเลอเรีย ลุคนาโนวา นางแบบชาวยูเครน และตี๋ลี่ลา หญิงสาวชาวจีน ที่ลงทุนทำศัลยกรรรมและควบคุมอาหารเพื่อให้ตนเองมีรูปลักษณ์เหมือนตุ๊กตาบาร์บี้ให้มากที่สุด

ความต้องการเป็น “ฉันคนใหม่” หรือ “The New Me” แสดงให้เห็นถึงความพร่าเลือนจากรูปแบบการใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด ไปสู่การเลือกชีวิตแบบที่ใช่ บนเส้นทางที่ชอบ อย่างไรก็ตาม การสร้างตัวตนใหม่นอกจากมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูง ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ปฏิกริยาตอบสนองจากคนรอบข้าง รวมทั้งการถูกสังคมปฏิเสธ 

 

ลอฟเฟรโด พบว่าศัลยกรรมริมฝีปากทำให้พูดลำบากสื่อสารกับผู้อื่นได้ยากขึ้น รวมทั้งรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดทำให้หางานทำไม่ได้ ขณะที่ลุคยาโนวา ก็เคยถูกแฟนคลับตุ๊กตาบาร์บี้ดักทำร้ายจนเกือบเสียโฉม 
 


การมาถึงของจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ผ่านเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) และความจริงเสริม (Augmented Reality) ได้นำเสนอทางเลือกการสร้างตัวตนในแบบที่อยากจะเป็นที่ง่ายกว่าผ่านเทคโนโลยีอนิเมชั่นสามมิติในร่างอวตาร (Avatar) หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “ฉันคนใหม่” ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ได้ตามใจชอบในโลกเสมือนจริง 

จักรวาลนฤมิตนำพามนุษย์หลีกหนีจากสังคมบนโลกที่เหลื่อมล้ำ เต็มไปด้วยอคติทางวัฒนธรรม ไปสู่การใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงที่ความเท่าเทียมมาจากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างโอกาสและเสรีภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้บนหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคทางเน็ต (Net Neutrality) เป็นสะพานสำหรับ “ฉันคนใหม่” ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ค่านิยม ชนชั้นทางสังคม ชื่อเสียง และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในโลกเสมือนจริงไม่มีสถานะทางสังคมและการแบ่งแยก อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถเลือกปกปิดตัวตนและสร้าง “ฉันคนใหม่” ขึ้นมา ทำให้กล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโลกจริง กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหว หรือ เรื่องที่สถานะทางสังคมกำหนดให้เป็นเรื่องน่าอับอายที่จะนำมาสื่อสารกัน 

อย่างไรก็ตาม จักรวาลนฤมิต แม้จะเข้าใกล้ความเป็นพื้นที่เสมือนในอุดมคติ (Cyberspace Idealism) แต่สุดท้ายก็ยังไม่อาจสร้างเกราะที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ 

 

สำหรับการเป็น “ฉันคนใหม่” มีรายงานออกมาบ่อยครั้งถึงสถานการณ์การเลือกปฏิบัติในโลกเสมือนจริง กับร่างอวตารที่ดูด้อยกว่า (Avatar Discrimination) เช่น แพลตฟอร์มเกม Fortnite ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีการจัดอันดับลักษณะที่ปรากฏ (Phenotype) ของร่างอวตาร ถ้าผู้เล่นเกมออกแบบรูปลักษณ์อวตารของตนเองให้ดูธรรมดาเกินไป หรือเหมือนการ์ตูน จะถูกระบุว่าเป็น "ข้อบกพร่อง" หรือ "Noobs" และมักจะถูกขับไล่ออกจากแพลตฟอร์ม 

 

รวมทั้ง ผู้เล่นเกมที่เป็นผู้หญิงมักจะเลือกใช้อวตารที่เป็นกลาง หรือเพศตรงข้าม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเลือกปฏิบัติ ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ผู้สร้างอวตารละทิ้งลักษณะปรากฏที่เป็นข้อด้อย และเลือกออกแบบอวตารเฉพาะประเภท มีโทนเสียง และคุณลักษณะที่โลกเสมือนจริงชื่นชอบเท่านั้น ทําให้เกิดการสูญพันธุ์เสมือนจริงของลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่มนุษย์มีอยู่ 

 

งานวิจัยยังพบว่า เวลาที่เราเลือกเป็น “ฉันคนใหม่” ที่แตกต่างจากชีวิตจริง (Cross-Racial) ทั้งในเรื่องเพศสภาพ สีผิว หรืออัตลักษณ์ จะเป็นการชักนำจิตใต้สำนึกของเราให้สนับสนุนความรู้สึกอยากล้อเลียน หรือดูแคลนร่างอวตารของคนอื่นว่าด้อยกว่า ในหลายกรณีการใช้ร่างอวตารในโลกเสมือนจริง กลายเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นพิษ เช่น การเหยียดผิว หรือการเลือกปฏิบัติกับอวตารอื่น ซึ่งเป็นผลจากแรงจูงใจที่ผู้คนในสภาพแวดล้อมที่เอื้อพากันละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม เนื่องจากการไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ทำให้ไม่ต้องกลัวการรับโทษ 

 

ระบบกฎหมายปัจจุบันอาจช่วยได้เพียงเล็กน้อยในการลงโทษพฤติกรรมที่เป็นพิษในโลกเสมือนจริง ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการดําเนินคดีในโลกเสมือนจริงยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน กฎหมายส่วนใหญ่ที่ใช้บังคับเป็นการอ้างอิงตามเขตอํานาจทางภูมิศาสตร์ ตรงกันข้ามกับชีวิตในโลกเสมือนจริงที่เป็นจักรวาลไร้พรมแดน การบังคับใช้กฏหมายกับความผิดที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนจริงจึงทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

แมรี เชลลีย์ นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของบทประพันธ์แฟรงเกนสไตน์ที่รู้จักกันทั่วโลก กล่าวว่า “ไม่มีใครเลือกทำชั่ว เพราะมันเป็นความชั่วหรอก เขาแค่เข้าใจไปว่า มันเป็นความสุขของความดี ที่เขาแสวงหาต่างหาก”  

 

คำกล่าวนี้ ดูจะสอดคล้องกับการสร้างอวตารในโลกเสมือนจริงเพื่อเป็น “ฉันคนใหม่” แม้ว่าอาจเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ลดความยับยั้งชั่งใจและส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นพิษ เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกลงโทษ แต่ความผิดดังกล่าวรวมทั้งการต้องสูญเสียอัตลักษณ์จริงของตนเองไปชั่วคราว ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่หลายคนยอมรับได้ เมื่อเทียบกับความสุขที่ตนเองได้รับ จากการที่ได้เลือกชีวิตในแบบที่ใช่ และได้เดินบนเส้นทางที่ชอบบนพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่อุดมคตินั่นเอง