"ทอท." เบรกแผนศึกษาสร้างท่าอากาศยานพังงา 8,000 ไร่

11 พ.ย. 2565 | 00:00 น.

ทอท. เปิดสาเหตุ ชะลอแผนศึกษาสร้างท่าอากาศ ยานพังงา 8 พันไร่ ลุ้นครม.ไฟเขียวโอนแผนบริหาร 3 สนามบิน ภายในเดือน ธ.ค. 65 - ม.ค. 66 จ่อดึงท่าอากาศยานกระบี่หนุนแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต รับผู้โดยสารในอนาคต

การผลักดันโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานทั่วประเทศ โดยปรับปรุงพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพการรองรับการเดินทางและขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของรัฐบาล โดย 1 ในนั้น คือ ท่าอากาศยานพังงา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างเพื่อสนับสนุนท่าอากาศยานภูเก็ตที่ปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพียงพอ

 

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา ปัจจุบันยังรอความชัดเจนการรับโอนท่าอากาศยานกระบี่ ในการดูแลและบริหารจัดการทั้ง 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หากดำเนินการถ่ายโอนท่าอากาศยานดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะต้องศึกษาความจุในการรองรับผู้โดยสารอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่ท่าอากาศยานพังงาเป็นพื้นที่ในละแวกเดียวกันกับท่าอากาศยานกระบี่ คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาเห็นชอบการถ่ายโอนแผนย้าย 3 ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกระบี่,ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ภายใน 2 เดือน หรือภายในเดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566

“หากการรับโอนท่าอากาศยานกระบี่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยรีบศึกษาก่อสร้างท่าอากาศยานพังงาไปก่อน ทำให้ไทม์ไลน์อาจเร็วไป ส่งผลให้ผลการศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์ความชัดเจนในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ได้ แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณาเห็นชอบการถ่ายโอนแผนย้าย 3 ท่าอากาศยานแล้ว เบื้องต้นทอท.จะดำเนิน
การศึกษาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงาทันที เนื่องจากทอท.มีงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการเบื้องต้นของท่าอากาศยานพังงา (Preliminary Feasibility Study) ประมาณ 20 ล้านบาท ตามแผนแม่บท”

 

ขณะเดียวกันตามแผนเดิมทอท.มีแผนที่จะศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา แต่เมื่อมีการถ่ายโอนแผนย้าย 3 ท่าอากาศ ยาน ทำให้ทอท.จำเป็นต้องชะลอโครงการฯ ไว้ก่อน เพื่อให้ได้ความชัดเจนในส่วนนี้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาความจุในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานพังงา ว่ายังมีความจำเป็นต้องก่อสร้างหรือไม่ หลังจากทอท.ได้รับโอนท่าอากาศยานกระบี่และพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแล้ว

ส่วนพื้นที่เดิมที่ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา จะใช้พื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ อยู่ในตำบลโคกกลอย และตำบล หล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ของที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ใกล้บริเวณสะพานสารสินเก่า ส่วนในอนาคตจะดำเนินการก่อสร้างหรือไม่ คงต้องรอดูการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เนื่องจากปัญหาของท่าอากาศยานภูเก็ตคือ ไม่สามารถขยายทางวิ่ง (รันเวย์) ได้ เพราะมีระยะทางวิ่งที่ค่อนข้างสั้น ราว 3 กิโลเมตร (กม.) หากมีท่าอากาศยานภูเก็ตเพียงแห่งเดียวที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ ก็มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มความจุในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร

 

หลังจากทอท.ได้รับโอนท่าอากาศยานกระบี่แล้ว จะมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าว ซึ่งจะต้องศึกษาทั้งการขยายทางวิ่ง (รันเวย์), การก่อ สร้างอาคารรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic)และอาคารรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) ให้สอดรับกับปริมาณความต้องการของผู้โดยสารด้วย ตามมาตรฐานของทอท.

 

“ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงาตามแผนเดิม ทางทอท.ยืนยันว่าไม่มีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ในการศึกษาเป็นการขอใช้พื้นที่จากที่ราชพัสดุ แต่จะได้รับกระทบในด้านมลภาวะทางเสียงจากการก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งทอท.จะต้องดำเนินการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)”

"ทอท." เบรกแผนศึกษาสร้างท่าอากาศยานพังงา 8,000 ไร่

สำหรับการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงาตามแผนเดิม จะสามารถเริ่มสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในเดือนมิถุนายน 2565 ใช้ระยะเวลา 6 เดือน และจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาฯ แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยจะเสนอรายงานผลการศึกษาฯต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.พิจารณา ภายในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งจะเปิดให้ บริการในปี 2574