เอกชนไทย จับมือ ซาอุดีฯ เซ็น MOU 8 ฉบับ รุกลงทุน 3 ธุรกิจเป้าหมาย

07 พ.ย. 2565 | 07:58 น.

เอกชนไทย จับมือนักลงทุน ซาอุดีฯ ลงนาม MOU 8 ฉบับ รุกลงทุน 3 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย แปรรูปอาหาร-ก่อสร้าง-อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ลงทุน การค้า คาดเพิ่มมูลค่าการค้าใหม่ 3 หมื่นล้านบาท

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้(7 พ.ย.) มีการประชุม Thai – Saudi Investment Forum โดยมี Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih, Minister of Investment of the Kingdom of Saudi Arabia (MISA) ให้เกียรติเป็นประธาน

 

การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจร่วมกันของสองประเทศต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ(ก.ต.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

 

การประชุม Thai – Saudi investment Forum ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญ เพื่อนำเสนอถึงยุทธศาสตร์ การลงทุน การส่งเสริมการค้าการลงทุนภาคเอกชน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อผลักดันการการเจรจาธุรกิจลงทุนร่วมไทย - ซาอุฯ

 

เบื้องต้นได้ผลักดันให้เกิดการลงนาม MOU การค้าการลงทุนจากภาคเอกชนไทยและซาอุฯ รวม 8 ฉบับ ในกลุ่มธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของ อีอีซี และซาอุฯ ที่สำคัญๆ อาทิ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Wellness) กลุ่มอุตสาหกรรมการก่อสร้างเมืองใหม่แห่งอนาคต และกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือร่วมลงทุนไทย – ซาอุฯ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

 

นายดอน กล่าวต่อว่า สถานการณ์การค้าการลงทุน ซาอุฯ ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลก เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นสินค้าหลัก ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีมูลค่า GDP สูงถึงประมาณ 8.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

สินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกไปยังซาอุฯ ได้แก่ กลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร ยาง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล เป็นต้น

 

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพไปลงทุนในซาอุฯ ได้แก่ สาขาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างการแปรรูปอาหาร
 

สาขาที่ซาอุฯ สนใจลงทุนในไทย อาทิ สาขาท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Wellness) การก่อสร้างเมืองใหม่ และ e-mobility ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรม Conversion พลังงานทดแทน และการลงทุนในเขตนวัตกรรม EECi เป็นต้น

นอกจากนี้ได้มีการจัดจับคู่นักธุรกิจไทยและซาอุฯ (Business Matching) มากกว่า 500 คู่เจรจา โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30,000 ล้านบาท สร้างการลงทุนใหม่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว หรือมูลค่ารวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 พร้อมขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกัน ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศให้เข้มแข็ง