“คมนาคม” ถก 4 หน่วยงาน เร่งสปีดสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง”

03 พ.ย. 2565 | 09:38 น.

“คมนาคม” ถก 4 หน่วยงาน อัพเดทแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง เคาะค่าโดยสารก่อนเปิดให้บริการ เล็งขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง เร่งแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางขึ้นลงสถานี ดึงรถเมล์เชื่อมฟีดเดอร์ รองรับระบบราง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ครั้งที่ 2/2565 ว่า ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น 

 

“คมนาคม” ถก 4 หน่วยงาน เร่งสปีดสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง”

 

สำหรับการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง และการสื่อสารสาธารณะ โดย ณ ปัจจุบันสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ร้อยละ 96.79 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน ส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) มีความคืบหน้าร้อยละ 92.28 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 34 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน โดยทั้งสองเส้นทางมีแผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

 

 


ทั้งนี้ในปี 2566 โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป
 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนงานทับซ้อนกัน บริเวณตำแหน่งทางขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ (สถานี PK11 – PK13) ประกอบด้วย การรื้อย้าย Duct Bank และแนวสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการก่อสร้างทางระบายน้ำ (Flood Way) ของกรมทางหลวง ซึ่งตามแผนงานจะรื้อย้ายแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2566 

 

 

 

ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูกับระบบขนส่งอื่น เช่น การก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีหัวหมาก กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ สถานีหัวหมาก ตลอดจนได้หารือแนวทางการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยก่อนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 59 เส้นทาง ได้มีการปรับเพิ่มเป็น 81 เส้นทาง และสายสีชมพูเดิมมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อ จำนวน 50 เส้นทาง ได้มีการปรับเพิ่มเป็น 82 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ประชาชน  

 

“คมนาคม” ถก 4 หน่วยงาน เร่งสปีดสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง”
     

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ได้มีข้อสั่งการให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1. คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ โดยให้คณะอนุกรรมการฯ ประสานผู้รับสัมปทานก่อสร้างเพื่อกำกับและติดตามการดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสูงสุด และการจัดการจราจรให้มีผลกระทบต่อการเดินทางประชาชนน้อยที่สุด เช่น การคืนพื้นที่ผิวจราจรจากการก่อสร้าง และให้มีการทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร โดยศึกษารูปแบบจากรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รวมทั้งการตรวจสอบการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสาย และการเดินทางสาธารณะรูปแบบอื่น ให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ เช่นทางเดินที่มีหลังคา
 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร พิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสารโดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและการใช้บัตรโดยสารร่วม และประสานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อเร่งรัดประชาสัมพันธ์บัตรโดยสารแก่ประชาชน

 

 


ส่วนคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ ให้ประสานข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการ เช่น การ Count down วันเปิดให้บริการ แนวทางการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระบบอื่น ๆ การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

 

 


นอกจากนี้ให้คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ และพิจารณาขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์สำหรับประดิษฐานบริเวณอาคารหรือสถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมในการติดตั้งป้ายชื่อสถานีเมื่อได้รับพระราชทานชื่อแนวเส้นทาง