บิ๊กธุรกิจร่วมถอดรหัส “คน-สิ่งแวดล้อม”กุญแจสู่ความยั่งยืนโลกยุคใหม่

28 ต.ค. 2565 | 09:59 น.

TMA ระดมสมองผู้นำธุรกิจ ร่วมถอดรหัสความยั่งยืน 2 มิติ “คน-สิ่งแวดล้อม” ชูความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม คีย์ซัคเซสธุรกิจยุคใหม่ ช่วยดึงดูดนักลงทุน ดันมูลค่าหุ้นพุ่ง ผู้บริหารกูเกิลเผยกว่า 1,000 บริษัท ใน 170 ประเทศฝึกคนชื่นชมความสำเร็จตัวเอง สร้างพลังบวก

รายงานข่าวจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยว่า ได้จัดสัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านมุมมองผู้นำภาคธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รากฐานของความยั่งยืนใน 2 มิติคือ “คน- The People” และ “สิ่งแวดล้อม – The Planet” โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้แนวคิดในการวางแผนกลยุทธ์ และแนวทางการปฎิบัติด้านการบริหารจัดการบุคคลและสิ่งแวดล้อมในงาน "Sustainability Forum 2022: The People and the Planet"  มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้ การสื่อสารและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างความยั่งยืนร่วมกันต่อไป

 

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร TMA กล่าวเปิดงาน ใจความสำคัญระบุว่า งาน Sustainability Forum  ได้จัดต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 6 ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำความสำคัญของประเด็นความยั่งยืน และผลประโยชน์ที่มีต่อสังคมและการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาวทำ โดย TMA เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ได้นำประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) มากล่าวถึงอย่างจริงจังเพื่อให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันเรื่อง ความยั่งยืน ได้รับการยอมรับและได้สร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วนของสังคมมากขึ้น และจะยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อไปในอนาคต

 

นายจักรชัย  บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวคิดของ Diversity, Equity & Inclusion(ความหลากหลาย,ความเท่าเทียม,การมีส่วนร่วม) หรือ DEI ว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเวลานี้และในในอนาคต โดยผู้บริหารระดับสูงที่ยอมรับและเข้าใจถึงประเด็น DEI จะทำให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างยั่งยืน เพราะได้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของธุรกิจ อีกทั้งคนยุคใหม่ยังคำนึงและให้ความสนใจในประเด็น DEI, Work-Life-Balance, Flexibility และองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น

 

จักรชัย  บุญยะวัตร

 

สำหรับการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด DEI จะประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่ 1. Silent (การได้รับข้อมูลแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใด) 2. Proactive (สนใจและเริ่มดำเนินการบางอย่าง และเริ่มมีการผลักดันให้ DEI เข้าสู่กลยุทธ์องค์กรต่อไป องค์กรไทยส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนนี้) 3. Implement (ทำให้ DEI บรรจุอยู่ในกลยุทธ์องค์กร บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนนี้)

 

และ 4. Mature (DEI จะเป็นเสาหลักขององค์กร) ซึ่งองค์กรควรประเมินระดับความก้าวหน้าในประเด็น DEI เพื่อวางแผนกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน โดยมีปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงประกอบด้วย 1.การจ่ายที่เป็นธรรมและมีหลักการ 2.การสร้างโอกาสในการเติบโตในองค์กรที่เท่าเทียมกัน 3.การประเมินผลที่เท่าเทียมกัน

 

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด DEI จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรม DEI ในการทำงานที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรทุกหน่วยงานไม่เพียงแต่งานบุคคล แต่รวมไปถึงการสื่อสารแก่บุคคลภายนอกองค์กรเพื่อการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร เฉพาะอย่างยิ่งโลกในอนาคตที่บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศจะได้รับการประเมินคะแนนด้าน ESG ส่งผลต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทและความน่าสนใจและน่าดึงดูดในสายตาของนักลงทุนด้วย  และองค์กรควรจะใช้แนวคิด DEI ในเชิงรุก ไม่ควรรอให้ปัญหาเกิดขึ้นและแก้ไขในภายหลัง

 

ในการอภิปรายหัวข้อ The Practice : The Diverse & Inclusive Companies ซึ่งเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทเอไอเอส และกลุ่มบริษัทอินทัช นางปัญชลีย์ วีระธรรมวัชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

 

สาระสำคัญผู้บริหารจากทั้ง 3 องค์กร ระบุว่า โลกปัจจุบันไม่มีคำว่า “One size fit all” อีกต่อไป กล่าวคือ องค์กรที่ยอมรับและใช้ประโยชน์จากความแตกต่างได้อย่างเหมาะสมจะเป็นองค์กรที่โดดเด่น มีความแตกต่าง และสามารถเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันเพื่อเติบโตต่อไปข้างหน้าได้ดีกว่า   

 

บิ๊กธุรกิจร่วมถอดรหัส “คน-สิ่งแวดล้อม”กุญแจสู่ความยั่งยืนโลกยุคใหม่

 

โดยแนวทางในการสร้าง “Diverse & Inclusive Company” เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจในประเด็น DEI ในองค์กรและสร้างวัฒนธรรมจากการเปิดใจยอมรับและเคารพตัวตนของบุคคลที่มีพื้นหลังต่างกัน ไม่เพียงแต่ในมิติเรื่องเพศเท่านั้น แต่ยังให้การยอมรับและให้โอกาสอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งในที่สุดการยอมรับความแตกต่างดังกล่าวจะนำไปสู่ “Inclusive”  โดยการสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน

 

นอกจากนี้การที่จะทำให้ DEI ได้ผลสูงสุดและยั่งยืนควรที่จะนำมาปรับใช้บนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกัน  การลดช่องว่างระหว่างวัยให้เหลือน้อยที่สุด โดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ จะทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าพนักงานจะมีความแตกต่างการในด้านใดก็ตาม และการที่องค์กรสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้พนักงานและผู้บริหารสามารถเข้าถึงกันได้ ลดช่องว่างและกำแพงระหว่างกันได้           

 

ในช่วงการปาฐกถาพิเศษ  “The Inspiration:  Google - I am Remarkable”   Ms. Nicola Pollin, #IamRemarkable APAC – Google ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ #IamRemarkable (ฉันโดดเด่น) ว่า  เป็นการตั้งต้นจากแนวคิดที่ต้องการเฉลิมฉลองความสำเร็จของสตรีและกลุ่มคนด้อยโอกาสทั้งในด้านหน้าที่การงานและด้านอื่น ๆ ในชีวิต เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการพูดถึงความสำเร็จของตนเองในมุมมองใหม่

 

ที่ผ่านมา คนเรามักถูกปลูกฝังให้ไม่โอ้อวดความสำเร็จของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง การกระทำการดังกล่าวอาจทำให้สูญเสียโอกาสสำคัญในชีวิตไป ดังนั้นจึงไม่ควรรอคอยการชื่นชมจากผู้อื่น แต่ตัวเองควรจะสามารถชื่มชมและเล่าถึงความสำเร็จของตนได้เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน แม้แต่ประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การเอาชนะโรคมะเร็ง ที่ทำให้คนนั้นรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ ก็สามารถมีผลต่อการทำงานได้ด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้อาจจะเป็นการยากที่จะพูดถึงข้อดีของตัวเองในบางครั้ง แต่การที่เราทำได้อาจทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเห็นความสำคัญและข้อดีของคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำควรที่จะมีเป็นอย่างยิ่ง การที่เรากล้าที่จะทำให้พนักงานมีความมั่นใจกับตัวเองมากขึ้นจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของพนักงานนั่นเอง

 

"สำหรับโครงการ #IamRemarkable เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2015 และได้มีส่วนช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าครึ่งเติบโตก้าวหน้าในสายงาน และกว่า 89% ของผู้ผ่านโครงการมีความกล้าและมั่นใจที่จะโปรโมตตัวเองมากขึ้น โดยในปัจจุบัน โครงการนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้ในกว่า 1,000 บริษัทใน 170 ประเทศทั่วโลก"

 

ส่วนในการอภิปราย The Responsibility: Sustainability as Core Corporate Strategy ที่ธุรกิจอาหารกำลังได้รับการจับตามองจากผู้บริโภคในตลาดและถูกกดดันจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายทั้งห่วงโซ่ธุรกิจตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งและการกระจายสินค้า โดยเฉพาะอย่างธุรกิจอาหารที่ต้องการเติบโตในตลาดโลก

 

ในการอภิปรายหัวข้อนี้มี นายประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และ นางชมพรรณ กุลนิเทศ รองประธานฝ่ายบริหารการลงทุนและความยั่งยืน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่หมวดอุตสาหกรรมอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศชี้ในทิศทางเดียวกันว่าได้มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและส่งผลในเชิงรูปธรรมต่อการดำเนินธุรกิจ

 

บิ๊กธุรกิจร่วมถอดรหัส “คน-สิ่งแวดล้อม”กุญแจสู่ความยั่งยืนโลกยุคใหม่

 

โดยหลังจากประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม ในที่สุดจะต้องมีกฏหมายบังคับใช้ต่อไปในอนาคต ดังนั้นองค์กรควรต้องหาแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างเหมาะสมให้ได้ก่อนจะถูกบังคับซึ่งไม่ส่งผลดีต่อองค์กร ทั้งนี้ การดำเนินการสอดคล้องต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมนอกจากจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ทั้งในมุมมองของผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งธุรกิจอาหารเกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก การดำเนินงานด้านความยั่งยืนในองค์กรยังให้ประโยชน์ต่อธุรกิจในแง่การประหยัดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพให้องค์กร เพราะถือเป็นโอกาสให้องค์กรมองหาวิธีการลดของเสียจากการดำเนินธุรกิจ (Waste) และการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีวิทยากรอีกหลายท่าน ร่วมเสวนาให้มุมมองที่หลากหลาย ในหลายหัวข้อเช่น The Branding: Branding of Diversity, “The Passion: Size doesn’t Matter” , The Technology : Technologies that Power the Sustainability เป็นต้น

 

 

ปิดท้ายการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “The Leadership: What Leaders Do?” โดย Mr. Harald Neidhardt, CEO สถาบัน Futur/io Institute ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้นำควรกระทำเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยย้ำถึงความสำคัญของ ESG ว่า ผู้นำและองค์กรต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG และนำไปปรับใช้อย่างรวดเร็วที่สุด มิฉะนั้นธุรกิจอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยสิ่งที่ผู้นำจะต้องทำคือ 1. กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับวิสัยทัศน์ 2. ร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยการเปิดรับฟังผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงองค์กรต่าง ๆ หรือแม้แต่เยาวชนรุ่นใหม่ และ 3. สื่อสารและผลักดันทั้งพนักงานและพาร์ทเนอร์ของธุรกิจให้นำกรอบแนวคิดนี้มาปรับใช้ ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะสามารถปฏิรูปอนาคตที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง