ด่วน!ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว”การบินไทย”แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

20 ต.ค. 2565 | 06:14 น.

ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว “การบินไทย” แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ลุยเดินแผนหาแหล่งเงินใหม่ แปลงหนี้เป็นทุน เพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิด 5 ประเด็นที่ศาลเห็นชอบ

วันนี้ ( 20 ต.ค.65) ศาลล้มละลายกลาง มีกำหนดนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู “การบินไทย” โดยศาลล้มละลายกลาง มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูของการบินไทยฉบับแก้ไขแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิจารณาเห็นชอบให้การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ

 

หลังจากแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับแก้ไข ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% รวมกระทรวงการคลัง ยังได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2568

 

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ การบินไทยก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท

 

เนื่องจากภาพรวมธุรกิจของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัว มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80% ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้นายนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการ หลังศาลนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยก็จะเริ่มกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท  โดยการเพิ่มทุนจะเพิ่มกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่หมด การบินไทยจึงจะหาทุนจากกลุ่มใหม่

 

ด่วน!ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว”การบินไทย”แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

 

ในส่วนของกระทรวงการคลังจะแปลงหนี้เป็นทุนและใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในฐานะผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย อยู่ที่ 32% และหากรวมกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐก็จะอยู่ที่ราว 40% กว่า

 

ทั้งนี้ตามสเต็ปควรจะเริ่มจากสินเชื่อใหม่ก่อน ซึ่งการบินไทยจะมีการเลือกระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท หรือการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเพิ่มทุนใหม่ เพราะเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน สเต็ปที่ 2 แปลงหนี้เป็นทุน และตามมาด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งเบ็ดเสร็จการบินไทยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น

 

ล่าสุดบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่น คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันร้อยละ 78.59 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียงมีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว และต่อมาในชั้นพิจารณาแผนของศาลล้มละลายกลาง ได้มีเจ้าหนี้บางรายยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางนั้น

 

ในวันนี้ (วันที่ 20 ตุลาคม 2565) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยเนื้อหาคำสั่งศาลสรุปได้ ดังนี้

 

1.การแก้ไขแผนในส่วนการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้นั้น มีการกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ภายใน 31 ธันวาคม 2567  และผู้บริหารแผนต้องมีขั้นตอนดำเนินการโดยต้องศึกษาและกำหนดราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และพนักงานและนักลงทุนใหม่ให้เหมาะสม

 

ทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพฯ ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้มาโดยตลอด อีกทั้ง ตามกฎหมายแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และผู้บริหารแผนได้ชี้แจงยืนยันแล้วว่าจะมีมติแปลงหนี้เดิมทุกกลุ่มทุกรายพร้อมกันเพื่อให้ชำระหนี้ให้แก่กลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ข้อเสนอขอแก้ไขในส่วนนี้ จึงมีรายละเอียดขั้นตอนและเงื่อนไขครบถ้วน ไม่มีข้อกำหนดใดเป็นการเลือกปฏิบัติ 

 

ประกอบกับ เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของประเทศเช่นเดียวกันก็ไม่ได้มีผู้ใดคัดค้าน นอกจากนี้ เจ้าหนี้ที่มาประชุมและออกเสียงร้อยละ 78.59 เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน แสดงว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ รวมถึงเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้และการแปลงหนี้เป็นทุนยังให้การยอมรับและสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ลูกหนี้มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เร็วขึ้น การแปลงหนี้เป็นทุนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

 

2.การแก้ไขแผนที่เพิ่มเติมข้อกำหนดในการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้โดยสารให้ได้รับชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรโดยสารที่บันทึกไว้ โดยเริ่มชำระได้ตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผนที่แก้ไขโดยต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 นั้น อาจเป็นผลให้จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ผู้โดยสารได้รับชำระหนี้แตกต่างไปจากคำสั่งถึงที่สุดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล ซึ่งการแก้ไขวิธีการชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ใช่การลดยอดหนี้ แต่เป็นการชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรที่ลูกหนี้ได้รับ และเป็นไปตามสิทธิหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายในการทำธุรกิจการค้าปกติและตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งอาจทำให้ผู้โดยสารรับเงินเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอคำขอรับชำระหนี้ให้มีคำสั่งถึงที่สุด อีกทั้ง ไม่มีเจ้าหนี้รายใดคัดค้านข้อเสนอขอแก้ไขแผนในส่วนนี้

 

3.การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีข้อพิพาทในต่างประเทศและผู้บริหารแผนจำเป็นต้องเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าว อาจทำให้ลูกหนี้ต้องถูกบังคับยึดทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบินในช่วงเวลาลงจอด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อรายได้และชื่อเสียง และส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

 

อีกทั้งไม่ปรากฎว่าฝ่ายผู้คัดค้านได้รับผลกระทบอย่างไรต่อการแก้ไขแผนในส่วนนี้ และไม่ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างอื่นที่ดีกว่าหรือเสนอแนวทางว่าหากไม่มีการแก้ไขแผนดังกล่าวจะทำให้ผู้บริหารแผนดำเนินการอย่างใดให้ทำการบินในประเทศที่มีข้อพิพาทได้โดยไม่ถูกบังคับคดีและอุปสรรคได้ การแก้ไขแผนในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

 

4. การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย นั้น เจ้าหนี้ผู้ให้บริการสนามบิน ผู้ให้บริการภาคพื้นและผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจที่ระบุรายชื่อและรายละเอียดเงินที่ค้างชำระไว้ ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติของลูกหนี้ หากไม่แก้ไขแผน ย่อมทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถดำเนินการค้าตามปกติต่อไปได้ และไม่อาจถือว่าเป็นการทำให้เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เสียเปรียบ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการหารายได้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงมีความจำเป็นและไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

 

อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดที่ให้ลูกหนี้เสนอรายชื่อเจ้าหนี้ จำนวนหนี้ และความจำเป็นต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้เพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในข้อเสนอขอแก้ไขแผนเพื่อพิจารณาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพิ่มเติมดังกล่าว มีผลให้การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ระบุรายละเอียดดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล จึงให้ตัดออก โดยข้อกำหนดส่วนนี้ไม่ใช่ข้อสำคัญ แผนส่วนอื่น ๆ ยังบังคับได้

 

5. ข้อเสนอขอแก้ไขแผนส่วนแผนปฏิรูปธุรกิจ คณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่และข้อกำหนดรองรับความเสี่ยงให้เจ้าหนี้ที่ถูกบังคับแปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอันเป็นผลสำเร็จของแผน ไม่ใช่รายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้  การยกเลิกส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ ก็เนื่องจากเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงานเพราะมีคณะกรรมการเจ้าหนี้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแผนอยู่แล้ว จึงไม่ทำให้ข้อเสนอขอแก้ไขแผนไม่ชอบ ส่วนแผนปฏิรูปธุรกิจนั้น ในส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนจัดการบริหารกิจการทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เป็นไปตามแผนซึ่งรวมถึงแผนธุรกิจแล้ว

 

นอกจากนี้ในส่วนข้อกำหนดรองรับความเสี่ยงให้แก่เจ้าหนี้ถูกบังคับแปลงหนี้เป็นทุนและข้อกำหนดเงื่อนไขที่เป็นผลสำเร็จของแผน ที่ธนาคารกรุงเทพฯ ผู้คัดค้านที่ 4 กังวลว่าจะต้องกำหนดให้ลูกหนี้มีสินเชื่อเพียงพอ ให้เป็นเงื่อนไขของผลสำเร็จของแผนนั้น เท่ากับว่าเป็นการผูกมัดให้ผู้บริหารแผนต้องจัดหาสินเชื่อในจำนวนที่สูงมากเสียก่อน จึงจะสามารถชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งการหาสินเชื่อเป็นจำนวนสูงมาก

 

ในขณะที่กิจการของลูกหนี้อยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อต่อรองขององค์กรหรือสถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ การสร้างเงื่อนไขดังกล่าวจึงอาจเป็นการสร้างภาระให้แก่ลูกหนี้ให้ต้องก่อหนี้และมีหน้าที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากต่อไปในอนาคต การที่แผนมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อหนี้ใหม่ไว้ให้มีความชัดเจนก็เพียงพอแล้ว แต่ไม่มีความจำเป็นต้องถึงขนาดนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขผลสำเร็จของแผน ข้อเสนอขอแก้ไข จึงมีรายการครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว

 

คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมีความมั่นใจว่าการฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบในวันนี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้าหนี้ทุกราย และขอให้เจ้าหนี้ ลูกค้า และคู่ค้าของการบินไทยเชื่อมั่นว่าการบินไทยจะกลับมาดำเนินธุรกิจและให้บริการอย่างเต็มที่เพื่อให้สมกับการเป็นสายการบินแห่งชาติที่แข็งแกร่งให้คนในชาติภาคภูมิใจ สร้างกำไรและการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้