รู้ยัง “เลี้ยงปลาปิรันยา” โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท

07 ต.ค. 2565 | 10:16 น.

เตือน “เลี้ยงปลาปิรันยา” โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีปล่อยลงในที่จับสัตว์น้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ชี้แม่ปลาบางชนิด วางไข่ได้ครั้งละ 6 พัน ตัว อายุ 10 ปี อันตรายระบบนิเวศ ประชาชน ใช้แหล่งน้ำ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาปิรันยา” เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงศ์ Serrasalmidae  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ พบมากในแม่น้ำอเมซอน ลักษณะรูปร่างและสีสันสวยงาม เกล็ดเป็นสีแดงอมชมพูแวววาวคล้ายกากเพชร โดยตัวโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่ที่สุด 50 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.9 กิโลกรัม  มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และยังมีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มที่แข็งแรง

 

มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงมากกว่า 20 ตัว  กินปลาและสัตว์น้ำได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นอาหาร โดยจะใช้วิธีล่าเหยื่อด้วยการพุ่งจู่โจมอย่างรุนแรง และรุมกันกัดแทะเหยื่อ ด้วยความรวดเร็ว จะมีความดุร้ายมากขึ้นเมื่อเวลาหิวจัด จนถูกขนานนามว่า "เพชฌฆาตแห่งลุ่มน้ำจืด"

 

รู้ยัง  “เลี้ยงปลาปิรันยา” โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์จะมีการสร้างรังและวางไข่ติดกับกอของพืชน้ำ โดยแม่ปลาปิรันยาบางชนิด สามารถวางไข่ได้ถึงครั้งละประมาณ 6,000 ตัว และจะมีอายุขัยยาวนานถึง 10 ปี

 

สำหรับประเทศไทย ได้มีประกาศห้ามมิให้มีไว้ครอบครอง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด สำหรับปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Serrasalmus สกุล (Genus) Rooseveltiella และสกุล (Genus) Pygocentrus ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อ เนื่องจากถิ่นกำเนิดเดิมมีสภาพแวดล้อมไม่แตกต่างกับแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยมากนัก หากหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจปรับตัวและอยู่อาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยได้

 

 

จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำและสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยแล้ว  ยังเป็นการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในระยะยาว  รวมทั้งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ลงไปใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำสาธารณะด้วย  แต่ด้วยลวดลายที่สวยงามของปลาปิรันยา ทำให้พบการลักลอบนำเข้า และจำหน่ายในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาแปลก และปลาหายาก

 

รู้ยัง  “เลี้ยงปลาปิรันยา” โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 64 ในข้อหา ครอบครองสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ มีโทษตามมาตรา 144 ผู้ใดฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีปล่อยปลาปิรันยาในที่จับสัตว์น้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายของปลาปิรันยา โดยหากพบเห็นหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบเพาะเลี้ยง ซื้อ ขาย ครอบครอง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร. 0 2579 9767 และ 0 2561 1418