กลับมารีสตาร์ทใหม่

28 ก.ย. 2565 | 23:00 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3822

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 หลังเผชิญกับวิกฤตินี้มา 2-3 ปีต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจ กำลังซื้อหดหาย การท่องเที่ยวทั้งวงจรหยุดชะงัก ได้รับผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้าทั้งทางสาธารณสุข ทางเศรษฐกิจภาพใหญ่กระทั่งเศรษฐกิจปากท้องและทางธุรกิจรายย่อย

 

ไทยยังเผชิญวิกฤติซ้ำจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ราคาพลังงานโลกพุ่งสูงขึ้น ที่สำคัญประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ กลายเป็นมรสุมลูกที่ 2 ที่ทุบซ้ำเศรษฐกิจไทยออกอาการร่อแร่ หายใจรวยริน ประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับต้นของโลก ขยายตัว เงินเฟ้อสูง นำมาสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ พร้อมกับวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่กำลังเข้าสู่ภาวะ recession และจะลุกลามกลายเป็นภาวะ recession ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยผูกเศรษฐกิจกับตลาดโลกอย่างแยกไม่ออก จึงมิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้

อย่างไรก็ดีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พัฒนาสั่งสม ความแข็งแกร่งมาพอสมควร รองรับแรงกระแทกผลกระทบได้ระดับหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจจากที่ขยายตัวตามสมควรในช่วงก่อนหน้าโควิด มาเป็นติดลบ และค่อยๆ บวกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยหลายสำนักพยากรณ์คาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจ 2% เศษในปีนี้ แต่ล่าสุดมีการประเมินจากธนาคารโลก ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมคาดการณ์ 2.9% เป็นปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3.1% ก่อนที่จะขยับเป็น 4.1% ในปี 2566

 

ธนาคารโลกประเมินภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออกฟื้นตัว แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์

ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่งเริ่มปรับขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค มาจากแรงกดดันของเงินเฟ้อ และผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

 

แม้การคาดการณ์จะมีทิศทางตัวเลขที่ดีขึ้น แต่เป็นเพียงบางภาคเท่านั้น โดยเฉพาะภาคบริการการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวหลังโควิด ซึ่งรัฐบาลจะต้องอาศัยโอกาสนี้ กลับมารีสตาร์ทเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะการผ่อนคลายข้อจำกัด ส่งเสริม อำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นแรงหนุนส่งในไตรมาสสุดท้ายของปีและสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงปีหน้า

 

ขณะที่อีกด้านต้องหามาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือน ในการจัดการหนี้รับดอกเบี้ยขาขึ้นและดูแลอัตราเงินเฟ้อ บริหารจัดการราคาสินค้าและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมพอรับได้ เพื่อให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤติไปพร้อมกันได้