"ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ"มาแรง โอกาสตลาดท่องเที่ยวไทย

16 ก.ย. 2565 | 07:19 น.

EIC ไทยพาณิชย์ ประเมิน"ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ"กำลังมาแรง ทั่วโลกโตเฉลี่ยถึงปี 20.9% ขณะที่ต่างชาติเยือนไทยใช้จ่ายต่อหัวกว่า 5 หมื่นบาท/ครั้ง ชี้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสุขภาพ

EIC ไทยพาณิชย์  ระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้หันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญและตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น  จนกลายเป็น “กระแสคนรักสุขภาพ” ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้รับอานิสงส์และเติบโตตามไปด้วย 

 

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังมาแรงทั่วโลก

 

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดย Global Wellness Institute (GWI) ประเมินว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568

 

GWI แบ่งเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness economy) ออกเป็น 11 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ดังนี้ 

 

  • การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลความงามและศาสตร์ชะลอวัย (Personal care, beauty and anti-aging) 
  • การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการและการลดน้ำหนัก (Healthy eating, nutrition and weight loss) กิจกรรมทางกายภาพ (Physical activity) 
  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) 
  • การแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก (Traditional and complementary medicine) 
  • สาธารณสุขการแพทย์เชิงป้องกันและการแพทย์เฉพาะบุคคล (Public health, prevention and personalized medicine) อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness real estate) 
  • สุภาพจิต (Mental wellness) 
  • สปา (Spas) 
  • สุขภาพในที่ทำงาน (Workplace wellness) และ
  • น้ำพุร้อน (Thermal/mineral springs)

 

ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย

 

ในปี 2563 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ในปี 2562  รายได้รวมจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 18.7% ส่วนในภูมิภาค Asia-Pacific ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองแค่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการต่อยอด หรือ ริเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ จากความนิยมของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

 

อีกทั้ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงกว่ากิจกรรมทั่วไป การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนวันพักที่นาน และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติ โดย GWI รายงานว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติที่เยือนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่มากกว่า 50,000 บาทต่อการเที่ยวหนึ่งครั้ง ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 53%

 

โดยจากการรายงานของ Global Wellness Institute (GWI) ในปี 2017 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าธุรกิจมากที่สุดในเศรษฐกิจเชิงสุขภาพของประเทศไทย มีดังนี้ 

 

  • อันดับที่ 1 การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลความงามและศาสตร์ชะลอวัย 
  • อันดับที่ 2 การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการและการลดน้ำหนัก 
  • อันดับที่ 3 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 
  • อันดับที่ 4 กิจกรรมทางกายภาพ

 

"ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ"มาแรง โอกาสตลาดท่องเที่ยวไทย

3 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ปัจจัยที่หนึ่ง :  ปัญหาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวกับการวางแผนดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอุปสงค์ของ Wellness tourism จากตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม  คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ Non-communicable diseases (NCDs) เพิ่มขึ้นทุกปี  จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่าในปี 2563  ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็น 71% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 76.58% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

 

ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ด้วยจำนวนผู้สูงอายุวัย 60 ปีมีสัดส่วนมากกว่า 20% หรือคิดเป็น 17-18 ล้านคนจากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการ Wellness tourism เติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุหรือกลุ่ม Silver age เหล่านี้  สอดคล้องกับการที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นคนวัย 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเน้นคุณภาพการท่องเที่ยวและยินดีที่จะจ่ายมากกว่าเพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่พึงพอใจ เช่น การเที่ยวแบบดูแลสุขภาพไปด้วยโดยมีโปรแกรมตรวจสุขภาพเพื่อดูความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ในอนาคต  

 

ปัจจัยที่สอง :   ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมตลอดจนมีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวย ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงสามารถต่อยอดศักยภาพเดิมของไทยได้ จากการรายงานการจัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจการท่องเที่ยวฉบับปี 2562 โดย World Economic Forum ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 31 จากทั้งหมด 140 ประเทศ และหากเทียบเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้น

 

อีกทั้ง ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติประเทศไทยยังจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี 2565 หากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นตลาดต่างประเทศราว 1.3 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศราว 1.2 ล้านล้านบาท ความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของไทยจะเอื้อให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวสามารถต่อยอดและขยายธุรกิจไปสู่ Wellness tourism ได้ เช่นโครงการ BDMS Wellness Clinic Retreat ที่จัดทำร่วมกับ Celes Samui เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว Silver age และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ชอบทะเลและธรรมชาติ ที่ต้องการดูแลร่างกาย ตรวจสุขภาพและทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การออกกำลังกาย การทำสปา นวดไทย หรือรับประทานอาหารสุขภาพ

 

ปัจจัยที่สาม :  ประเทศไทยมีศักยภาพและความชำนาญในการให้บริการทางการแพทย์ อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ หากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้าด้วยกัน ประเทศจะสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่รักในการดูแลสุขภาพได้มากกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ

 

เช่น Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ที่มี BDMS Wellness Clinic คลินิกสุขภาพเชิงป้องกันดูแลและฟื้นฟูในโรงแรมเพื่อให้แขกที่เข้าพักสามารถเข้าถึงบริการได้โดยตรง ซึ่งโปรแกรมการดูแลสุขภาพมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กายภาพบำบัด สุขภาพทางเดินอาหาร ทันตกรรม รวมไปถึงคลินิกผู้มีบุตรยาก ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลได้เล็งเห็นโอกาสและคิดค้นแนวทางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้มีการวางแผนการรักษาในระยะยาวเพื่อที่จะกลับมารักษาที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และในทุกช่วงของชีวิต

 

การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย

 

ทั้งนี้การที่จะทำให้อุตสาหกรรม Wellness tourism ของไทยประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งผู้ประกอบการ นักวิชาการ เจ้าของพื้นที่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตลอดจนภาครัฐและนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ดังเช่น รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย Hainan free trade port จัดตั้งเขตนำร่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นานาชาติป๋ออ่าวเล่อเฉิงที่เมืองป๋ออ่าวในมณฑลไห่หนานเพื่อให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับไฮเอนด์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับนานาชาติ ผลักดันให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์เป็นสัญลักษณ์ของไห่หนานโดยมีมาตรการลดขั้นตอนการขอเอกสารตรวจลงตราให้แก่ผู้ป่วย ลดขั้นตอนในการนำเข้ายารักษาโรคและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการจีน อำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมข้ามพรมแดน และสนับสนุนการเข้าถึงประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ายารักษาโลกที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีน

 

ปัจจุบันภาครัฐไทยมีนโยบายที่จะผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ (Medical hub) โดยการขยาย Medical treatment visa หรือ วีซ่ารักษาพยาบาลจาก 90 วันเป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน เน้นดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล

 

EIC ประเมินว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสุขภาพ ผู้ประกอบการควรคว้าโอกาสจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อยอดธุรกิจโรงแรมโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเชิงสุขภาพแบบครบวงจรที่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรองและแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ไม่มีประเทศไหนเหมือน

 

เนื่องจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้โดยตรง ผู้ประกอบการควรพิจารณาการขยายธุรกิจโรงแรมไปสู่โรงแรมที่มีสปาพร้อมโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพความงามและการแพทย์ทางเลือกโดยเน้นการประยุกต์ศาสตร์แพทย์แผนไทย นวดไทย และสมุนไพรไทยที่ไม่มีชาติไหนสามารถเลียนแบบได้ เช่น การนวดกดจุดรักษาไมเกรน การประคบสมุนไพรด้วยลูกประคบสมุนไพรสดผ้าครามรักษาอาการปวดหลัง การต่อยมวยไทยบำบัดโรคซึมเศร้า การใช้น้ำสมุนไพรไทยสำหรับ Detox ลำไส้ เป็นต้น

 

ที่มา :  SCBEIC